Main Menu

วัดราชโอรสาราม

watradchaorod

วัดราชโอรสาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร

อาณาเขต

  • ทิศเหนือติดกับคลองบางหว้า ซึ่งเชื่อมคลองมหาไชยกับคลองภาษีเจริญ
  • ทิศใต้ติดกับที่ธรณีสงฆ์ของวัดโดยมีคูน้ำคั่นอยู่
  • ทิศตะวันออกติดกับคลองสนามชัย
  • ทิศตะวันตกติดกับที่ดินชาวบ้าน

  วัดราชโอรสารามสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดจอมทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงผูกพันกับวัดนี้เนื่องจากพระปัยยิกา (ยายทวด) ของพระองค์มีนิวาสสถานอยู่ในย่านนี้ จึงทรงมีพระญาติอยู่มาก ทั้งยังเป็นวัดที่พระชนกพระชนนีในสมเด็จพระศรีสุลาไลยพระบรมราชชนนีในพระองค์ ทรงทำนุบำรุงอยู่ด้วย

  นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าว่า เมื่อเดืนอ ๑๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีข่าวว่าพม่าจะยกทัพเข้ามาตีไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าฯให้จัดกองทัพ ๔ ทัพ ยกไปตั้งสกับพม่าเป็นแห่งๆ ในพื้นที่ตั้งแต่เมืองกาญจนบุรีลงไปทางตอนใต้

  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งครั้งนั้นยังดำรงพระยศพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงรับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพคุมพลหนึ่งหมื่นเสด็จไปสกัดกั้นทัพพม่าทางด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี ซึ่งเป็นทางผ่านที่สำคัญที่สุด พระองค์ยกกองทัพไปโดยทางเรือผ่านคลองบางกอกใหญ่เข้าคลองด่าน
(ปัจจุบันเรียกคลองสนามชัย) เสด็จประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองเพื่อทำพิธีเบิกโขลนทวาร ตามลักษณะพิชัยสงคราม ครั้งนั้นทรงอธิษฐานขอให้การศึกสงครามในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และเสด็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ

  เมื่อยาตราทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองกาญจนบุรีจนจะย่างเข้าฤดูฝนในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๖๔ แล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่าพม่าจะยกมา สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เลิกกองทัพเสด็จกลับพระนคร


 ครั้นเสด็จกลับถึงพระนครโดยสวัสดิภาพแล้ว พระองค์ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งวัดเสมือนสร้างใหม่ โดยเสด็จประทับคุมงานและตรวจตราด้วยพระองค์เองตลอดมา เป็นที่ทราบกันดีว่า พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ทรงโปรดการติดต่อค้าขายกับประเทศจีนเป็นอย่างมาก (กระทั่งสมเด็จพระบรมชนกนาถตรัสเรียกพระองค์ว่า 'เจ้าสัว') นั่นอาจมีส่วนให้ทรงโปรดศิลปกรรมจีนเป็นพิเศษ เมื่อครั้งสถาปนาวัดแห่งนี้ทรงเห็นเป็นการส่วนพระองค์จึงทรงพระราชดำริเปลี่ยนแบบอย่างตามความพอพระราชหทัย โดยนำศิลปกรรมจีนมาผสมผสานกับศิลปกรรมไทยได้อย่างประณีตกลมกลืนโดยมีชาวจีนสำเพ็งมาช่วยสร้างพร้อมทั้งสั่งช่างฝีมือมาจากเมืองจีน งานก่อสร้างในครั้งนี้ใช้เวลายาวนานถึง ๑๔ ปี จึงแล้วเสร็จ

  การสร้างวัดราชโอรสฯ ในครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญของสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นครั้งแรกที่สร้างโบสถ์วิหารโดยไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เนื่องจากในยุคนั้นนิยมทำด้วยไม้ ทรงเห็นว่าเป็นของหักพังง่ายไม่ถาวร จึงเลิกใช้ นอกจากนี้ยังมีเสาพาไลโดยรอบเพื่อรองรับน้ำหนักชายคาปีกนกแทนคันทวยแบบเดิมเป็นการประยุกต์ดัดแปลงที่ทุกคนต่างเห็นเป็นสิ่งแปลก กระทั่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีลายพระหัตถ์ทูลสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงษ์ ว่า


  "... เป็นวัดแรกที่คิดสร้างออกนอกแบบอย่างวัด ซึ่งสร้างกันเป็นสามัญ จะเรียกต่อไปในจดหมายนี้ว่า วัดนอกอย่าง พิจารณาดูวัดราชโอรสเห็นได้ว่า วัดนอกอย่างนั้น ไม่ใช่แต่เอา
ช่อฟ้าใบระกาออกเท่านั้น ถึงสิ่งอื่นเช่นลวดลายและรูปภาพเป็นต้น ก็แผลงไปเป็นอย่างอื่นหมด คงไว้แต่สิ่งอันเป็นหลักของวัดอันจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น โบสถ์ วิหาร เป็นต้น
นอกจากทรงสร้างตามพระราชหฤทัยไม่เกรงใครจะติเตียน แต่ตั้งพระราชหฤทัยประจงให้งามอย่างแปลก มิใช่สร้างแต่พอเป็นกิริยาบุญ..."


  วัดราชโอรสฯหรือวัดจอมทองเมื่อแรกสร้างนั้นมีความงดงามแปลกตาเป็นที่เลื่องลือ กระทั่งมีชาวไทยและชาวต่างชาติลงเรือมาชมมิได้ขาดรวมทั้ง จอห์น ครอเฟิร์ด (John Crawfurd)ราชทูตอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเขียนบันทึกยกย่องวัดแห่งนี้ไว้ว่า "เป็นวัดที่สร้างขึ้นได้อย่างงดงามที่สุดของบางกอก"

  เมื่อทรงปฏิสังขรณ์เสร็จจึงน้อมเกล้าฯถวายเป็นพระอารามหลวงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมราชชนกโปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า "วัดราชโอรส"อันหมายถึงวัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา


 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามไว้เป็นจำนวนมาก ในรัชกาลของพระองค์นั้นถึงกับกล่าวกันว่า ในรัชกาลที่ ๓ ถ้าใครใจบุญชอบสร้างวัดวาอารามก็เป็นคนโปรด แต่ก็ไม่มีวัดไหนจะสวยงามจนเป็นที่เลื่องลือเสมอด้วยวัดราชโอรสแห่งนี้ กระทั่งเมื่อนายมีมหาดเล็ก บุตรพระโหราธิบดี แต่งเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติทูลเกล้าฯก็ยังได้พรรณนาไว้ว่า

     " วัดไหนไหนก็ไม่ลือระบือยศ
     เหมือนวัดราชโอรสอันสดใส
     เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร
     ล้วนอย่างใหม่ทรงคิดประดิษฐ์ทำ
     ทรงสร้างด้วยพระมหาวิริยาธึก
     โอฬารึกพร้อมพริ้งทุกสิ่งขำ
     ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราเพริศดูเลิศล้า
     ฟังข่าวคำลือสุดอยุธยา "

  ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระบรมสรีรังคารมาบรรจุไว้ณ พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ และทรงเติมสร้อยนามวัดเป็น "วัดราชโอรสาราม" หลังจากนั้นจึงถือกันว่าเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ ๓

บรรณานุกรม

วัดประจำรัชกาล.· อรณี แน่นหนา เรียบเรียง,เสรี ตันศรีสวัสดิ์ ถ่ายภาพ.· กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาน์น,๒๕๔๘.