Main Menu

วัดชนะสงครามราชวรวิหาร

wat_chana-songkhram

ที่ตั้ง    เลขที่ 77 ถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพ

อาณาเขต   

  • ทิศเหนือ          จรด       ถนนจักรพงษ์
  • ทิศใต้               จรด       บริเวณ ที่พักอาศัย
  • ทิศตะวันออก    จรด       บริเวณที่พักอาศัย
  • ทิศตะวันตก      จรด       ซอยพงษ์สาร

ประวัติ
      วัดชนะสงครามเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหารสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เดิมบริเวณรอบ ๆ วัดเป็นทุ่งนาค่อนข้างกว้างใหญ่ จึงเรียกว่า “วัดกลางนา” สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงบูรณะปฏฺสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงแต่งตั้งพระราชาคณะฝ่ายรามัญสำหรับพระนครเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา โดยโปรดให้พระสงฆ์รามัญมาอยู่วัดนี้ จึงเรียกชื่อวัดว่าวัดตองปู เลียนแบบเดียวกับวัดตองปูซึ่งเป็นวัดพระรามัญในสมัยอยุธยา แต่อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าชื่อวัดตองปูมาจากชาวรามัญ หมู่บ้านตองปู ซึ่งเคยอยู่ในหงสาวดีได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย จึงนำชื่อวัดที่ตนยึดถือเป็นที่พึ่งทางใจมาตั้งด้วย วัดกลางนาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดตองปูตามความเคยชินของชาวบ้านตองปู ต่อมาเมื่อทรงมีชัยชนะข้าศึกจึงพระราชทานนามว่า “วัดชนะสงคราม”

      ในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระบวนราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ได้โปรดให้ซ่อมแซมพระราชมณเฑียรโดยรื้อพระที่นั่งพิมานดุสิดานำไม้มาสร้างกุฏิ ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้บูรณะวัดชนะสงครามมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 พร้อมทั้งทรงสร้างกุฏิใหม่ แล้วเสร็จในปี 2396 และโปรดให้ทำการฉลอง ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้บูรณะซ่อมแซมและปฏิสังขรณ์หลังคาพระอุโบสถและทรงปรารภที่จะสร้างที่บรรจุพระอัฐิสำหรับเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลแต่ยังไม่ไสร้างที่ใดก็สิ้นรัชกาล ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้พระราชทานอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ก่อสร้างที่บรรจุพระอัฐิที่เฉลียงท้ายพระอุโบสถวัดชนะสงคราม โดยกั้นผนังระหว่างเสาท้ายพระอุโบสถเป็นห้องทำเป็นคูหา 5 ช่อง คูหาหนึ่งเจาะเป็นช่องเล็ก ๆ สำหรับบรรจุพระอัฐิเจ้านายตามรัชกาล การก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 7 สำหรับการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถได้มีมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
      พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งเป็น 13 ห้องเสา ไม่มีพาไล ฐานพระอุโบสถเป็นฐานบัวลูกแก้ว หลังคาทำเป็นชั้นลด 3 ชั้น มุงกระเบี้องเคลือบสี ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเจาะเป็นช่องหน้าต่าง บานหน้าต่างเป็นลายเทพพนมเหนือบานหน้าต่างเป็นลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ลวดลายพื้นหน้าบันแตกต่างกันคือ หน้าบันด้านหน้าลายพื้นเป็นลายเทพพนม ส่วนหน้าบันด้านหลังลายพื้นเป็นลายก้านแย่งใบเทศ ประดับกระจกสีปิดทอง ซุ้มประตู หน้าต่างซ้อนสองชั้น เป็นลายก้านขดปูนปั้นบานหน้าต่างด้านในเป็นภาพเขียนทวารบาล บานประตูด้านนอกเป็นไม้แกะสลักปิดทองลายก้านแย่ง บานหน้าต่างด้านนอกลงรักสีดำ ไม่มีลวดลาย ด้านหลังพระอุโบสถข้างหลังพระประธานเป็นเฉลียงกั้นห้องทำเป็นคูหาที่บรรจุอัฐิเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล เจาะเป็นช่อง ๆ มีคันทวยรองรับชายคา โดยรอบพระอุโบสถเป็นลวดลายเถาวัลย์พันตลอดคันทวย ใบเสมาพระอุโบสถจะติดที่ผนังตรงมุมด้านนอกทั้ง 4 มุม และผนังด้านใน นอกจากใบเสมาติดผนังแล้วยังมีใบเสมาตั้งบนแท่นอีก 1 แห่ง หลังพระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ใบเสมานี้เป็นใบคอดตรงเอว มีลายที่กลางอก 4 ใบ ตั้งบนฐานแก้วรองรับด้วยฐานบัวอีกชั้นหนึ่ง

      ศาลาราย ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากเนื่องจากทางวัดต้องการเปลี่ยนสภาพให้เป็นสำนักเรียนของพระภิกษุสงฆ์ มีการกั้นห้อง เปลี่ยนแปลงเสาแต่สภาพเดิมน่าจะมีทางขึ้นหลังละ 2 ข้าง ด้านหนึ่งของศาลารายจะก่อทึบและเชื่อมด้วยกำแพงโดยรอบ หลังคาลด 1 ชั้น เคลือบกระเบื้องสี ด้านที่ก่อผนังทึบจะเจาะเป็นช่องหน้าต่าง อีกด้านหนึ่งเปิดโล่ง

      พระเจดีย์ ตั้งอยู่มุมด้านหน้าทั้งสองข้างของเขตพุทธาวาส ลักษณะเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ 20 ทรงจอมแห เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ พระเจดีย์กลมอีก 2 องค์ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสูงมีทางขึ้นทางเดียว บนฐานที่ตั้งเจดีย์ทางเดินโดยรอบทั้ง 2 องค์

      ตอนบน ของฝาผนังในพระอุโบสถ จะเป็นเรื่องรูปฝรั่งแสดงปริศนาธรรมที่ผนังพระอุโบสถ สันนิษฐานไว้ในหนังสือ ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร ว่าท่าจักได้เขียนแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงครองวัด ทราบกันว่า รัชกาลที่ 4 ได้ทรงคิดเขียนขึ้นทุกตอนแสดงปริศนาธรรมเนื่องด้วยคุณของพระรัตนตรัยครบทั้ง 3 เป็นของแปลกไม่มีในที่อื่น รูปภาพเหล่านี้มี 16 ตอนเท่าจำนวนประตูและหน้าต่าง ตอนหนึ่ง ๆ ก็อยู่ขื่อประตูและหน้าต่างช่องหนึ่ง ๆ

บรรณานุกรม 

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.