Main Menu

วัดเศวตฉัตรวรวิหาร

 GIFF2661


  วัดเศวตฉัตร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร หน้าวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก หลังวัดอยู่ริมถนนเจริญนคร แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร หมายเลขที่วัด 1401 “พระเจ้าอัยกาเธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์” (พระองค์เจ้าฉัตร ต้นสกุล ฉัตรกุล) ทรงสร้างในระหว่าง พ.ศ. 2359 – 2373 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามว่า “วัดเศวตฉัตร” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ท่านผู้สร้างวัด

ประวัติความเป็นมา

  วัดเศวตฉัตร  วรวิหาร เดิมชื่อวัดบางลำภูล่าง เป็นวัดเก่า  ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่มีพระอุโบสถเก่าเป็นหลักฐาน   พื้นที่ด้านหน้าวัดเป็นเนื้อที่งอกออกไปริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากการตื้นเขินของลำน้ำห่างจากจุดที่เป็นวัดเดิมมากเห็นได้จากที่ตั้งของพระอุโบสถเก่า(ปัจจุบันมีถนนเจริญนคร ตัดระหว่างวัดกับพระอุโบสถเก่า)

  ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระเจ้าอัยกาเธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์จึงได้ทรงยกวัดออกไปสร้างใหม่ ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยโปรดให้รื้อพระตำหนักของพระองค์ไปสร้างเป็นกุฏิหลังใหม่ 5 ห้อง (คือกุฏิเจ้าอาวาสปัจจุบัน) สร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และพระปรางค์ เป็นต้น  ในปลายรัชกาลที่ 2 และต้นรัชกาลที่ 3 ต่อกัน ภายหลังถวายเป็นพระอารามหลวง ดังปรากฏในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ตอนที่ว่าด้วยการปฏิสังขรณ์ และสร้างพระอาราม พ.ศ. 2393 ว่า วัดเจ้าและวัดขุนนางสร้างถวายเป็นวัดหลวงก็มี ไม่ได้ถวายก็มี  กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ สร้างวัดหนึ่ง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อว่า วัดเศวตฉัตร  ที่ถวายเป็นพระอารามหลวงก็พระราชทานเงินช่วย

  พระเจ้าอัยกาเธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ พระนามเดิม พระองค์เจ้าฉัตร เป็นพระราชโอรสที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาตานี  ทรงผนวช ปรากฏตามหนังสือพระราชวิจารณ์รัชกาลที่ 5 ว่า ทรงผนวชเป็นหางนาคกรมพระราชวังหลัง ณ วัดพระศรีสรรเพชญ (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) กรมพระราชวังหลัง จะเสด็จอยู่วัดใดไม่ได้กล่าว ส่วนพระองค์เจ้าวาสุกรี พระองค์เจ้าฉัตรนั้น มีหมายสั่งให้จัดขุนหมื่นพันทนาย ตำรวจนอก ตำรวจสนม สนมพลเรือน ชาวที่ หมอโรง ไปอยู่ประจำแห่งหนึ่ง ให้มีตำรวจนอกซ้าย 2 ขวา 2 ตำรวจสนมซ้าย 2 ขวา 2 สนมพลเรือน 1 ชาวที่ 1 หมอ 1 พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวาสุกรี อยู่วัดพระเชตุพน พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าฉัตร อยู่วัดระฆัง ทรงตั้งกรม ณ วันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 10 ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช 1171 พ.ศ. 2359 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลที่ 2 ทรงตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าฉัตร เป็นกรมหมื่น สุรินทรรักษ์ ต้นสกุล ฉัตรกุล เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2372 ในรัชกาลที่ 3 สิ้นพระชนม์ ปรากฏตามหนังสือพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า พ.ศ. 2373 จุลศักราช 1192  ปีขาล โทศก เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลที่ 3 กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ประชวรพระโรคเถาดาน ประมาณปี 1 สิ้นพระชนม์ในวันอังคาร เดือน 6 ขึ้น 6 ค่ำ พระชนมายุได้ 39 พรรษา กับ 3 เดือน (ตรงกับวันที่ 27 เมษายน) งานพระเมรุ วันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 3 ปีขาล วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2373 ปีที่ 7 ในรัชกาลที่ 3 พระราชทานเพลิง วันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีขาล วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2373


สถานะและที่ตั้ง

  วัดเศวตฉัตร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 1410 ถนนเจริญนคร แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 13 ไร่ 32 ตารางวา


สิ่งสำคัญภายในวัด

  - พระอุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนลักษณะแบบศิลปะจีนพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3  หลังคาลด 2 ชั้น  มุงกระเบื้อง หน้าบันตอนบนประดับลายปูนปั้นรูปดอกไม้ ตอนล่างเป็นกระเบื้องเคลือบรูปสัตว์ต่างๆ ภูเขา ต้นไม้ และดอกไม้แบบจีน ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นดอกไม้ประกอบแถบผ้า ติดกระจกสี บานประตูและหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำรูปฉัตร 5 ชั้น และรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ ผนังภายในเขียนเป็นลายดอกไม้ร่วง

  - พระอุโบสถเก่า  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงแบบสมัยอยุธยา เป็นพระอุโบสถขนาดเล็กหลังคาลด 2 ชั้น  มุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา มีเพิง (พาไล) ยื่นออกมาด้านหน้า หน้าบันเจาะเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืนรวม 3 ช่อง

  - พระประธาน  พระพุทธรูปปางสมาธิ พระนามว่า  พระพุทธสมาธิคุณสุนทรสมาทานบุราณสุคต (หลวงพ่อโบสถ์บน) หน้าตักกว้าง 2.30 ม. ไหล่กว้าง 1.35 ม. จากพื้นพระอุโบสถถึงทับเกษตร 1.84 ม. จากทับเกษตรถึงพระเศียรสูง 3.40 ม. ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถเก่า เล่ากันว่าเป็นพระสานด้วยไม้ไผ่ แล้วปั้นด้วยปูน สร้างกันมาเก่าแก่คู่กับวัด ไม่ทราบว่าใครสร้างและสร้างสมัยไหนเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ กล่าวว่าเป็นพระสานด้วยไม้ไผ่แล้วปั้นด้วยปูน สร้างคู่มากับวัดแต่โบราณ

  - พระพุทธรูปพระนาคปรก พระนามว่า พระพุทธอังคีรสมุนีนารถอุรคอาสน์อำไพ”  หน้าตักกว้าง 1.50 ม. ไหล่กว้าง 0.95 ม. จากพื้นพระอุโบสถถึงทับเกษตรสูง 2.28 ม. จากทับเกษตรถึงพระเศียรสูง 1.72 ม. ประดิษฐานอยู่บนขนดพระยานาค 4 ชั้น พระยานาคแผ่พังพาน เศียรปกอยู่บนพระเศียรภายใต้ต้นจิก ในพระอุโบสถใหม่ เป็นพระหล่อพระพุทธรูปปางนาคปรกนี้ หมายถึงพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ เสด็จออกจากร่มอชปาลนิโครธ ไปยังไม้จิก ซึ่งได้นามว่า มุจจลินท์ อันตั้งอยู่ในทิศอาคเนย์แห่งพระมหาโพธิ ในสัปดาห์ที่ 3 ทรงนั่งเสวยวิมุติสุขอยู่ 7 วัน เวลานั้น ฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาว พระยานาคชื่อ มุจจลินท์ เข้ามาวงด้วยขนด 7 รอบ และแผ่พังพานปกพระเศียรพระพุทธเจ้า เพื่อจะป้องกันฝนและลมมิให้ถูกพระวรกาย  สำหรับฐานชุกชีเบื้องหลังพระประธาน  บรรจุอัฐิผู้สืบสกุลของพระองค์เจ้าฉัตร  คือ  ด้านซ้ายจารึกว่า จอมพล  เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต”  (หม่อมราชวงศ์  อรุณ  ฉัตรกุล)  ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ เกิด พ.ศ. 2399  อสัญกรรม  พ.ศ. 2465  โดยคุณวรันดับ  ฉัตรกุล  บุตรี  พลตรีพระยาสุรวงศ์วิวัฒน์  สร้างฉลองพระคุณเจ้าคุณตา  ด้านขวาจารึกว่า ฉัตรกุล  สายหม่อมเจ้ากลาง

  - พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระนามว่า  พระพุทธมารวิชัยอภัยปรปักษ์อัครวิบูล”  หน้าตักกว้าง 2.50 ม. ไหล่กว้าง 1.42 ม. จากพื้นพระวิหารถึงทับเกษตร สูง 3.56 ม. จากทับเกษตรถึงพระเศียร สูง 3.00 ม. ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเป็นพระหล่อโลหะ พระประธานในพระอุโบสถใหม่และพระวิหารทั้ง 2 องค์นี้ ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีแห่งกรมศิลปากร ได้พิจารณาแล้วว่า มีลักษณะเป็นพระสุโขทัยแท้ แม้แต่จะได้มีการลงรักปิดทองแล้ว ก็ยังมีลักษณะเป็นพระสุโขทัยปรากฎอยู่ เช่น พระหัตถ์ พระบาท วงพระหัตถ์ และพระรัศมีเป็นต้น น่าสันนิษฐานว่าจะได้จากของหลวงที่เหลือจากสร้างวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งในรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เชิญมาจากเมืองเหนือถึง 1200 องค์

  - พระวิหาร   เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนลักษณะแบบศิลปะจีนเหมือนพระอุโบสถหน้าบันประดับลายปูนปั้น พระประธานในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย

  - พระวิหารพระพุทธไสยาสน์  หลังคามุงกระเบื้องประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์   1 องค์ พระนามว่า  พระพุทธ

บัณฑูรมูลประดิษฐสถิตไสยาสน์”   ยาว ๑๒.๙๐ ม. พระครูวินัยสังวร (มูล) เจ้าอาวาสรูปแรกเป็นผู้สร้าง  ในสมัยที่กรมหมื่นสุรินทรรักษ์  (พระองค์เจ้าฉัตร) ทรงย้ายเขตพุทธาวาสมาเป็นที่ตั้งปัจจุบั

  - พระปรางค์  เป็นพระปรางค์ฐานแปดเหลี่ยม 2 ชั้น ย่อมุมไม้สิบสองวัดผ่าศูนย์กลาง 13.00 ม. ทรงสูง  สูงประมาณ 20

เมตร  ชั้นบนทำเป็นซุ้มจระนำ บรรจุพระพุทธรูป 4 ด้าน ประดิษฐานอยู่ด้านหลัง ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารต่อกัน สร้างขึ้นในสมัยสร้างวัดพร้อมพระอุโบสถและพระวิหารตามผังที่นิยมสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

  - พระศรีอริยเมตไตรย  1 องค์ หน้าตักกว้าง 2 ศอก คุณโยมผู้ชายสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) สร้างถวายไว้

  - รูปหล่อเหมือนบูรพาจารย์   ๓  องค์

   ๑. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช  (แพ  ติสฺสเทวมหาเถร)

   ๒. พระศาสนุเทศาจารย์  (บุญ  ปริปุณฺณสีโล) อดีตเจ้าอาวาสฯ

   ๓. พระธรรมญาณมุนี  (บุญนาค  ชินวํโส  ป.ธ.๙)  อดีตเจ้าอาวาสฯ

 

อ้างอิงจาก

-          พระอารามหลวง.  คณะผู้จัดทำ พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ]   กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551.

-          80 พระอารามหลวงกรุงเทพมหานคร.   บรรณาธิการ สุนทรียา ศรีวรขันธ์.  กรุงเทพฯ : ฐานการพิมพ์, 2550.

           Watthai.  วัดเศวตฉัตรราชวรมหาวิหาร.  อ้างอิงจาก  https://sites.google.com/site/allthaitemple/wad-sewtchatr-rach-wrmhawihar สืบค้นเมื่อ 2 กันยายน 2559