Main Menu

วัดยานนาวา

 GIFF2554

  พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดคอกควาย" เนื่องจากมีชาวทวายมาลงหลักปักฐานอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และชาวทวายจะนำกระบือที่เลี้ยงไว้มาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน หมู่บ้านบริเวณนั้นจึงได้ชื่อเรียกกันต่อมาว่า "บ้านคอกควาย"


ประวัติความเป็นมา

  ในสมัยกรุงธนบุรีได้รับการยกฐานะวัดคอกควายขึ้นเป็นพระอารามหลวง เรียกชื่อใหม่ว่า "วัดคอกกระบือ" ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่ ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และสร้างเรือสำเภาพระเจดีย์แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไป เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภาซึ่งกำลังจะหมดไปจากเมืองไทย จึงได้เปลี่ยนชื่อจากวัดคอกกระบือเป็น "วัดยานนาวา" ด้านในมีพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าให้สักการะ

  สำเภายานนาวา มีความยาววัดจากหงอนข้างบนถึงท้ายบาหลี (ห้องขนาดเล็กท้ายเรือสำเภา) 21 วา 2 ศอก ความยาวส่วนล่างวัดที่พื้นดิน 18 วา 1 ศอกเศษ ความกว้างตอนกลางลำเรือ 4 วา 3 ศอก ความสูงตอนกลางลำเรือ 2 วา 3 ศอก 

  นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์องค์ใหญ่และเล็กอยู่ในลำสำเภารวม 2 องค์ ที่ห้องบาหลีมีรูปหล่อของพระเวสสันดรกับพระกัญหาชาลีประดิษฐานอยู่ อันเนื่องมาจากเนื้อความในมหาชาติคำหลวง ที่พระเวสสันดรโน้มน้าวใจพระโอรสธิดาให้อุทิศตนร่วมกับพระบิดาสร้างมหากุศล เสมือนเรือสำเภาใหญ่พามนุษยชาติข้ามโอฆสงสารไปสู่พระนิพพาน


สถานะและที่ตั้ง

  วัดยานนาวา เป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 1648 ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 23 ไร่ 2 ตารางวา

 

สิ่งสำคัญภายในวัด

  - พระอุโบสถ  สร้างในรัชสมัยรัชกาลที่1  ก่ออิฐถือปูน เครื่องบนเป็นไม้ ในสมัยรัชกาลที่ 3  โปรดให้เขียนภาพจิตรกรรมด้านหลังบานประตูในพระอุโบสถขึ้น คือรูปกระทงใหญ่ ตามแบบที่ทำในพระราชพิธีลอยพระประทีป และโถยาคูตามแบบอย่างที่ทำเลี้ยงพระในพระราชพิธีสารทในรัชสมัยของพระองค์ พระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร ป.ธ.3) เป็นเจ้าอาวาส หน้าบัน ทำด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจกสีเป็นรูปเทพพนม ท่ามกลางลายก้านขดรูปสัตว์ต่าง ๆ  เสาพาไลย่อมุมไม้สิบสอง รองรับหลังคาชั้นลดด้านหน้าและด้านหลังของอาคาร บัวหัวเสาเป็นปูนปั้นลงรักปิดทอง ประดับกระจกสี  ในสมัยของพระองค์ ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้น 4 องค์ เป็นพระประธาน 1 องค์ ปางสมาธิ 1 องค์ และปางมารวิชัย 1 องค์

  - พระประธาน  ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 8 นิ้ว สูง 4 ศอก 10 นิ้ว

  - สำเภาเจดีย์  สร้างในรัชกาลที่ 3 มูลเหตุการสร้าง เพราะทรงพยากรณ์ว่าเรือสำเภาจะสูญไป จึงโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นโดยสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีพระเจดีย์ 2 องค์ แทนที่เสากระโดงเรือ องค์ใหญ่ย่อมุมไม้ 25 ส่วนองค์เล็กมีฐานย่อมุมไม้ 16 ลักษณะคล้ายพระเจดีย์วัดพระเชตุพน และมีรูปพระเวสสันดรกับรูปกัณหาชาลีหล่อประดิษฐานไว้ที่ห้องบาหลี  มีศิลาจารึกภาษาไทย 1 แผ่น  ภาษาจีน 1 แผ่น

  - พระบรมราชานุสาวรีย์ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประทับยืนหน้าพระสำเภาพระเจดีย์

  - อาคารมหาเจษฏาบดินทร์ เป็นอาคารอเนกประสงค์ วางรูปแบบเป็นอาคารที่ใช้สอยพื้นที่ประโยชน์ในตัวอาคารร่วมกัน เช่น ศาลาบำเพ็ญกุศล ศาลาการเปรียญและหอประชุม ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประดับยอดปราสาท 5 ยอด หลังคามุงกระเบื้องกามู 3 สี

  - หอพระไตรปิฎก  เป็นอาคาร 3 ชั้น  มีสัณฐานเป็นอาคารทรงไทยประดับยอดปราสาท 3 ยอด ใช้เก็บรวบรวมตู้พระไตรปิฎก

  - พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาว ๓ ปาง  อยู่หลังซุ้มประตูวัดบริเวณระหว่างอาคารมหาเจษฎาบดินทร์ กับหอพระไตรปิฎก

 

อ้างอิงจาก

พระอารามหลวง.  คณะผู้จัดทำ พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ]   กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551.