Main Menu

วัดโมลีโลกยาราม

วัดโมลีโลกยาราม

ประวัติความเป็นมา

  เป็นวัดโบราณสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาเดิมเรียกว่า วัดท้ายตลาด เพราะอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ทรงรวมวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาดเข้าไว้ในเขตพระราชวัง จึงเป็นวัดไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำตลอดรัชกาล
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายราชธานีไปตั้งอยู่ฟากฝั่งตะวันออกคือ กรุงรัตนโกสินทร์ทรงโปรดให้สร้างเสนาสนะขึ้นที่วัดแจ้งและวัดท้ายตลาด เฉพาะวัดท้ายตลาดโปรดให้พระมหาศรี เปรียญเอกวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) เป็นพระเทพโมลี (ต่อมาภายหลังเป็นพระพุทธโฆษาจารย์) โปรดให้นำพระสงฆ์อันดับมาครองวัดท้ายตลาด
  ส่วนวัดแจ้งโปรดให้พระปลัดในสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระโพธิวงศาจารย์ พระครูเมธังกร เป็นพระศรีสมโพธิแล้วโปรดให้พระราชาคณะทั้ง 2 รูป ไปครองวัดแจ้ง ทำให้วัดท้ายตลาดและวัดแจ้งจึงมีพระสงฆ์อยู่ประจำและเป็นพระอารามหลวงนับแต่นั้นมา
ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงปฏิสังขรณ์วัดท้ายตลาดและพระราชทานนามว่า วัดพุทไธศวรรย์ ในรัชกาลนี้สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี ทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นหลังหนึ่ง คือ พระอุโบสถหลังปัจจุบัน มีพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นราชาคณะขณะนั้นซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของเจ้านายในสมัยนั้นมากและยังเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ (อาจารย์ผู้ให้ความสำเร็จกรรมวาจา คือ คู่สวด : แปลตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. หน้า 13)
  สมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้บูรณะวัดท้ายตลาดใหม่ทั้งอารามและพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดโมลีโลกย์สุธาราม” สันนิษฐานว่าน่าจะมากจากมีพระเกศาของรัชกาลที่ 3 และ 4 ประดิษฐานอยู่ ต่อมาเรียกวัดนี้ว่า “วัดโมลีโลกยาราม” ในรัชสมัยนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถึงแก่มรณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2386 รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ประดิษฐานไว้ในหอที่วัดโมลีโลกยารามเพื่อสักการบูชา นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรื้อพระตำหนักแดง ที่เคยประทับในพระบรมมหาราชวังไปสร้างถวายที่พระราชวังเดิมทั้งหมู่ ครั้นเมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักแดงไปสร้างถวายเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม
  สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้กระทำผาติกรรม ย้ายพระตำหนักแดงไปสร้างเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีทรงปฏิสังขรณ์ และทรงสร้างกุฏิตึกพระราชทานเจ้าอาวาส หอสวดมนต์ และหอกลาง
  ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิสังขรณ์วัดโมลีโลกยาราม อีกครั้งหนึ่ง คือ หอพระไตรปิฎก ซึ่งบูรณะในสมัยพระธรรมเจดีย์ (อยู่) เป็นเจ้าอาวาส


สถานะและที่ตั้ง

  วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 2 แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน
พื้นที่ตั้งวัดถูกปิดล้อมด้วยกำแพงสูง 5 ศอกโดยรอบ ยกเว้นบริเวณด้านหน้าวัดซึ่งติดกับคลองบางกอกใหญ่ และด้านหลังวัดบางส่วน ด้านหน้าเลียบแนวคลองบางกอกใหญ่ ยาว 3 เส้น 14 วา ด้านหลังยาว 4 เส้น 4 วา ด้านตะวันออกเฉียงเหนือยาว 2 เส้น 12 วา ด้าน ตะวันตกเฉียงเหนือยาว 2 เส้น 12 วา ด้านตะวันตกเฉียงใต้ยาว 4 เส้น ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับสถานที่ต่างๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับกำแพงกองทัพเรือ กรมสื่อสารทหารเรือ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งวัดกัลยาณมิตร
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับกำแพงกองทัพเรือ บริเวณโรงเรียนนายทหารเรือ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับคลองบ้านขมิ้น และ บ้านเรือนประชาชนที่เช่าวัด

สิ่งสำคัญภายในวัด

- พระอุโบสถลักษณะทรงไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์ ขนาดกว้าง 9.50 เมตร ยาว 25 เมตร หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้า ใบระกาไม้สักลงรักปิดกระจก ภายในผนัง และเพดานเขียนภาพทรงข้าวบิณฑ์ ประตูและหน้าต่างแกะสลักลายกนกลงรักปิดทองงดงาม หน้าบันมีตราไอยราพรตรัชกาลที่ 4 ตามหลักฐานน่าจะสร้างในรัชกาลที่ 1 ที่โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร(รัชกาลที่ 2) รับเป็นธุระสร้างขึ้น และได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ในรัชกาลที่ 4 จึงมีตราประจำรัชกาลประดิษฐานที่หน้าบัน
- พระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4ศอก พุทธลักษณะงดงามไม่ปรากฏพระนาม สร้างขึ้นพร้อมพระอุโบสถหรือมีมาแต่เดิมไม่ปรากฏหลักฐาน
- รูปหล่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) นั่งขัดสมาธิขนาดเท่าตัวจริง ประดิษฐานอยู่บนแท่นซึ่งมีคำจารึกที่ฐานรูปหล่อว่า ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้วสองพันสามร้อยแปดสิบหกพระวษา ณ วันจันทร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ปีเถาะ เบญจศก พระบาทสมเด็จบรมธรรมมฤกมหาราชาธิราชรามาธิบดี บรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสีหนาทดำรัสสั่ง หลวงกัลป์มาวิจิตรเจ้ากรมช่างปั้นขวาและอาจารย์ฉิม กรมราชบัณฑิตย์ ให้จำลองหล่อพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลย์สุนทรนายกติปิฏกธรา มหาคณฤษร บวรสังฆาราม คามวาสีบพิธ อันสถิต ณ พุทไธยสวรรยาวาศ วรวิหาร ไว้เป็นที่สักการบูชาแก่สานุศิษย์ทั้งปวงสืบไป....
- พระวิหาร ลักษณะทรงไทยผสมจีน ขนาดกว้าง 8.75 เมตร ยาว 19.75 เมตร หลังคามุงกระเบื้องเคลือบดินเผา ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ปันด้วยปูน ด้านในกั้นเป็น 2 ห้อง ด้านหลังเป็นห้องเล็กมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ผนังและเพดานพระอุโบสถเขียนลวดลายงดงาม ประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ เพดานเขียนดาวลายเป็นกลุ่มดาว สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน เพียงแต่เล่าสืบกันมาว่าสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดใช้เป็นฉางเกลือ จนมีผู้เรียกว่า “พระวิหารฉางเกลือ” มาจนทุกวันนี้
- หอสมเด็จ หอนี้แบ่งเป็น 2 ชั้น คือชั้นฐานและชั้นตัวหอ ชั้นฐานรองรับหอสมเด็จและพระเจดีย์ มีบันไดขึ้นลง 2 ทาง แบ่งเป็นช่องๆ แต่ละช่องมีรูปปั้นทหารแบกฐานไว้แต่ชำรุด ชั้นตัวหอ ประกอบด้วยหอสมเด็จและองค์พระเจดีย์ทรงลังกาประจำอยู่มุมละ 1 องค์ นัยว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระเมาฬีของรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ด้านหน้าเป็นอุโมงค์บรรจุรอยพระพุทธบาทจำลอง ภายในประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประตูและหน้าต่างเขียนภาพลายรดน้ำ
- หอพระไตรปิฎก เรียกทั่วไปว่า หอไตร เป็นอาคารไม้ทรงไทยพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องเคลือบใช้ปูนปั้นรูปเจดีย์ แทนช่อฟ้า ประตู หน้าต่าง และผนังด้านในเขียนภาพลายรดน้ำสวยงาม คงสร้างในรัชกาลที่ 3 และปฏิสังขรณ์ก่ออิฐเสริมชั้นล่างทำเป็นห้อง จึงเสียรูปทรงเดิมไปปัจจุบันชำรุดมาก
- ธรรมาสน์ลายทอง ซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ด ในคราวงานถวายพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- คัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์ พร้อมทั้งตู้และธรรมาสน์สำหรับนั่งสวด ซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ดในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์
- จำหลักหิน รูปจำหลักหิน ชาวบ้านเรียก ตุ๊กตาหิน เป็นสถาปัตยกรรมพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 นำเข้ามาจากประเทศจีนโดยพ่อค้าชาวจีนนำมาถวายคาบเกี่ยวจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 4 ในกรุงเทพฯ ทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร แต่มีมากที่สุดคือฝั่งธนบุรีแถวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือของกรุงเทพฯ ตามคลองซอยเล็กๆ


อ้างอิง

พระอารามหลวง. คณะผู้จัดทำ พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ] กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551.
กรมวิชาการ. เลียบวัด ใกล้วัง : หนังสืออ่านเพิ่มเติมกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ระดับประถมศึกษาและวิชาสังคมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา / ผู้เรียงเรียง จุฑารัตน์ สุขสถิตย์ ... [และคนอื่น ๆ] กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2542