Main Menu

วัดอมรินทรารามวรวิหาร

วัดอมรินทรารามวรวิหาร

ประวัติความเป็นมา

  วัดนี้เป็นวัดโบราณ ชื่อว่า "วัดบางหว้าน้อย" ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ แล้วสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง คู่กันกับวัดระฆังโฆสิตาราม เดิมเป็นชั้นตรีชนิดราชวรวิหาร ต่อมาได้ถูกจัดเป็น ชั้นตรีชนิดวรวิหาร ตามประกาศลงวันที่ 30 กันยายน 2548 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขวังหลังได้โปรดปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่หมดทั้งพระอาราม สร้างพระอุโบสถ พระระเบียง วิหาร กำแพงแก้ว ศาลาราย หอระฆัง หอไตร หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญกุฏิ เสนาสนะ และ ถนนในพระอาราม รัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอมรินทราราม" และทรงสร้างพระอุโบสถที่สร้างค้างอยู่ต่อไปจนสำเร็จ 

  ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร และสิ่งอื่น ๆ รวมทั้งทรงสร้างกุฏิเพิ่มเติมอีกหลายห้อง การปฏิสังขรณ์ได้กระทำกันต่อเนื่องมาทุกยุคของเจ้าอาวาส แต่ละรูปรวมทั้งพระบรมราชวงศ์ ข้าราชบริพาร และ ราษฏรผู้มีจิตศรัทธา บริจาคทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์วัดอมรินทรารามตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้


สถานะและที่ตั้ง

  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 566 แขวง ศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีที่ดินเป็นที่ตั้งวัด
เนื้อที่ 22 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา

สิ่งสำคัญภายในวัด

- พระอุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสร้างขึ้นใหม่ ลักษณะเป็นทรงไทยจัตุรมุข หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซึ่งออกแบบก่อสร้างโดยหลวงวิศาลศิลปกรรม สร้างเสร็จ ปี พ.ศ. 2512
- พระประธาน ในพระอุโบสถพระนามว่า หลวงพ่อโบสถ์น้อย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ศิลปะแบบสุโขทัยปางมารวิชัย
ลงรักปิดทอง
- โบสถ์น้อย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคาลด 3 ชั้น หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ อยู่ใกล้กับ สะพาน
อรุณอมรินทร์ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อ พ.ศ. 2492
- มณฑปพระพุทธบาทจำลอง พระองค์เจ้าหญิงจงกลพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง ทรงสร้างขึ้น ประดับด้วยกระเบื้องและ
ถ้วยชามเขียนสีของจีนฝีมือประณีตงดงามมาก
- พระพุทธฉายจำลอง พระองค์เจ้าหญิงกระจับ พระธิดาในกรมพระราชวังหลังทรงสร้างขึ้นเป็นภูเขามีความสูง 3 วา 2 ศอก
กว้างโดยรอบ 19 วา

- ตำหนักเขียว เป็นตำหนักของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ซึ่งอยู่ในความอนุรักษ์ของกรมศิลปากร ซึ่งทางวัดได้ทำการรื้อเพื่อย้าย และ ทำการสร้างใหม่ให้คงสภาพเดิม เป็นเรือนไทยหลังใหญ่ ทางวัดได้ปฏิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพดีจนถึงปัจจุบัน

 

อ้างอิง

พระอารามหลวง. คณะผู้จัดทำ พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ] กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551.
ธรรมกับชีวิต. 2556. ผู้จัดการ (ออนไลน์). แหล่งที่มา :
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9560000137898 . 4 ม.ค. 59