Main Menu

วัดหงส์รัตนาราม



    วัดหงส์รัตนาราม
    ประวัติความเป็นมา
วัดหงส์รัตนาราม เป็นวัดโบราณ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดเจ้าสัวหง” ตามชื่อของเศรษฐีจีนผู้สร้าง สมัยกรุงธนบุรี วัดหงส์รัตนาราม เป็นวัดที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อปีพุทธศักราช 2314 โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ ขยายอาณาเขตวัดให้กว้างขึ้น สร้างกุฏิและเสนาสนะทั้งพระอาราม พระราชทานนามว่า “วัดหงส์อาวาสวิหาร”

สมัยรัชการที่ 1 ได้เปลี่ยนชื่อวัดว่า “วัดหงส์อาวาสบวรวิหาร” และในสมัยรัชกาลที่ 2 เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดหงส์อาวาสวรวิหาร” และในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร และเสนาสนะอื่นๆ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามว่า “วัดหงส์รัตนาราม” ใช้มาจนปัจจุบัน


สถานที่ตั้ง
วัดหงส์รัตนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 102 แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 46 ไร่ 1 งาน 23 ตารางวา


สิ่งสำคัญในพระอาราม


พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีเสารับพาไลโดยรอบบานประตูด้านหน้า และด้านหลังเป็นไม้แกะสลักรูปหงส์เกาะกิ่งไม้ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้น ลักษณะศิลปกรรมแบบจีนผสมตะวันตก ยอดซุ้มทำหลังคาปิดเป็นเส้นทแยงมุม มีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นเล่าเรื่องรัตนพิมพวงศ์ (ตำนานพระแก้วมรกต) ใส่กรอบกระจกแขวนไว้ที่ผนังในพระอุโบสถ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4


พระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ มีเศวตฉัตร 7 ชั้น มีพระอัครสาวกซ้ายขวา


พระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีเสาพาไลโดยรอบ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย พระนามว่า “หลวงพ่อสุข”


หอไตร เป็นอาคารไม้ฝาปกน เขียนลายรดน้ำปิดทอง บานประตูไม้แกะสลักลายเครือเถาฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์


พระพุทธรูปสำริด เป็นพระพุทธรูปสำริดนวโลหะ ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน ประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานในพระอุโบสถ พระนามว่า “หลวงพ่อแสน”

   ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก อยู่หน้าวัด สร้างขึ้นเป็นพระราชานุสรณ์ที่พระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามตลอดรัชสมัย


บรรณานุกรม
พระอารามหลวง. คณะผู้จัดทำ พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ] กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551