Main Menu

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

1 

ประวัติความเป็นมา
วัดประยุรวงศาวาส สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุญนาค) สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2371 และถวายเป็นพระอารามหลวง ในสมัย รัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่า วัดประยุรวงศาวาส แต่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดเหล็ก” เพราะมีรั้วเหล็กรูปหอก ดาบ ขวาน เป็นกำแพงวัด ต่อมาสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ และเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ ได้ปฏิสังขรณ์


สถานะและที่ตั้ง
วัดประยุรวงศาวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) ฝั่งธนบุรี เลขที่ 24 ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 26 ไร่


สิ่งสำคัญในพระอาราม
พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ลักษณะสถาปัตยกรรมทรงไทย หลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นลายดอกบุนนาค มีหน้าต่างแปดเหลี่ยมอยู่ตรงกลางระหว่างประตูทั้ง 2 ข้าง ด้านหลังพระประธานมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพระพุทธประวัติ


พระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานนามว่า สมเด็จพระพุทธธรรมวิเชฎฐศาสดา


พระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ลักษณะสถาปัตยกรรมทรงไทย หลังคามุงกระเบื้อง หน้าบันเป็นลายดอกไม้ บานประตูประดับมุก ผนังภายในทาสีขาวประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย พระนามว่า “พระพุทธนาคน้อย” หรือ “หลวงพ่อนาค” ชาวจีนเรียกว่า “ลักน้อย” หมายถึง กลีบบัว 6 ชั้น


พระเจดีย์ใหญ่ สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์สร้างพร้อมกับการสร้างวัดแต่ไม่แล้วเสร็จ ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังชั้นล่างเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปรายรอบพระเจดีย์ 55 ช่องถัดขึ้นไปเป็นพระเจดีย์รายรอบพระเจดีย์ใหญ่ 18 องค์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและบรรจุอัฐิของตระกูลบุญนาค

พระเจดีย์ท่านขรัวแก้ว พระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดีสร้างไว้ โดยบรรจุรูปหล่อเหมือนท่านขรัวแก้ว ไว้ภายในพระเจดีย์


เขามอ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดเป็นภูเขาหินจำลองอยู่กลางน้ำซึ่งเป็นสระมีถ้ำประดิษฐานพระนอนอยู่เชิงเขา ยอดเขาประดิษฐานโบสถ์และเจดีย์ขนาดเล็กอยู่บนสุด ในบริเวณเขามอประดับด้วยต้นไม้และตุ๊กตาจีน และเป็นสุสาน บรรจุอัฐิชนทั่วไป สุสานต่างๆ มีลักษณะสถาปัตยกรรมทั้งแบบไทยและฝรั่ง


บรรณานุกรม
พระอารามหลวง. คณะผู้จัดทำ พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ] กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551