Main Menu

วัดกัลยาณมิตร

WatKanlayanamitra

ประวัติความเป็นมา
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (เจ้าสัวโต)  สมุหนายกต้นสกุลกัลยาณมิตร ครั้งเป็นพระยาราชสุภาวดี เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง ได้อุทิศบ้านเรือนและซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเดิมเป็นหมู่บ้านที่พักของพระภิกษุจีน มีกุฎีจีน และศาลเจ้าที่เรียกว่า “เกียนอันเก๋ง” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด หมู่บ้านแห่งนี้เรียกว่า “หมู่บ้านกุฎีจีน”  ถัดไปทางทิศใต้เป็นหมู่บ้านชาวโปรตุเกส เรียกว่า “หมู่บ้านกุฎีฝรั่ง” ทางด้านตะวันออกของวัดมีหมู่บ้านชาวมุสลิมเรียกว่า “กุฎีขาว”  เมื่อซื้อที่ดินได้จึงสร้างวัดขึ้นใน พ.ศ. 2368  รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดฯ ช่วยสร้างวิหารหลวงและพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปก่อพระฤกษ์ในวันที่ 18 พ.ค. 2380 และต่อมาทรงพระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร”
สมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “หอพระมณเฑียรธรรมเถลิงพระเกียรติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ พระบรมมาตามหัยยิกา กรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระเชษฐภาคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบรมราชมาตามหัยยิกาสุริเยนทรามาตร์ (เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด) พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างบริเวณที่จอดแพของสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์มาก่อนและเพื่อประกอบพระราชกุศลตามสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ กับทั้งเป็นการปูนบำเหน็จเชิดชูเกียรติของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ด้วย และพระราชทานนามพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในพระวิหารหลวงเรียกว่า “พระโต” ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”
เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดกัลยาณมิตร ในปี พ.ศ. 2445  ทรงทราบเรื่องหอพระมณเฑียรธรรมทรุดโทรมขาดทุนทรัพย์ในการซ่อมแซมจึงโปรดฯให้กรมโยธาธิการจัดการซ่อมแซม


สถานะและที่ตั้ง
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือ "วัดกัลยา" เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 656 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดกัลยาณ์  เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร พื้นที่ กว้าง 31.75 เมตร ยาว 41.42 เมตร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ (ฝั่งตะวันตก)

อาณาเขต
  ทิศเหนือติดแม่น้ำเจ้าพระยา
  ทิศใต้มีคูหลังวัดเป็นเขต
  ทิศตะวันออกมีคูหลังวัดเป็นเขต
  ทิศตะวันตกติดคลองบางกอกใหญ่

สิ่งสำคัญในพระอาราม
- พระวิหารหลวง รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นอาคารประธานที่สร้างขึ้นในแนวแกนประธานของเขตพุทธาวาส โดยตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถและการเปรียญ หันด้านสกัดออกทางหน้าวัด รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างขึ้น  ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสถาปัตยกรรมแบบประเพณี หลังคาประดับเครื่องลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม่มีทวยรับชายคา หลังคาเป็นหลังคาชั้นลดหน้าหลัง 4 ตับ 2 ซ้อน ซ้อนสุดท้ายเป็นพะไลคลุมรอบเฉลียงพระวิหารหลวงเสาพะไลก่ออิฐถือปูนฉาบเรียบทาสีขาวไม่มีบัวหัวเสา หน้าบันแกะสลักปิดทองประดับกระจกสีเป็นลายดอกพุดตานส่วนฐานอาคารเป็นฐานปั้นปูนฐานปัทม์สองชั้น ตัวอาคารมีทางเข้าด้านสกัดทั้งหน้าและหลัง ด้านละ 2 ประตู  มีหน้าต่างด้านละ  5 บาน ทั้ง 2 ด้าน  ประตูหน้าต่างเป็นซุ้มปูนปั้นแบบซุ้มบันแถลงยอดปราสาท บานประตูหน้าต่างภายนอกเขียนลายรดน้ำปิดทองเป็นลายอัษฎาวุธ ภายในเขียนสีเป็นลายดอกไม้ร่วง ฝาเพดานภายในฉลุลายดาวเพดานปิดทองบนพื้นสีแดง
- พระประธาน  ภายในวิหารหลวงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์พระประทานก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 11.75 เมตร สูง 15.44 เมตร  รัชกาลที่ 3 ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปก่อพระฤกษ์ในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2380  ชาวบ้านเรียกพระประธานองค์นี้ว่า “พระโต”  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่  4 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”
- พระอุโบสถ  วัดกัลยาณมิตรเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือลักษณะของอาคารนำเอาศิลปะจีนเข้ามาตกแต่ง มีพะไลรอบ พะไลมีเสาทั้งหมด 30 ต้น เสาพะไลไม่มีบัวหัวเสา ลบมุมเสาด้วยบัวเล็บมือ  เฉลียงด้านสกัดมีความกว้างทั้งสองด้านเท่ากัน หลังคาพระอุโบสถเป็นหลังคาชั้นลด หลังคา 3 ตับ 2 ซ้อน ตับสุดท้ายเป็นพะไลคลุมเฉียงรอบ หน้าบันพระอุโบสถเป็นแบบกระเท่เซร ใช้การประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลายแผง ตัวอาคารด้านสกัดทั้งสองด้านของพระอุโบสถ เจาะช่องประตูด้านละ 2 ช่อง ผนังด้านยาวเจาะช่องหน้าต่างแบบบานแผละด้านละ 5 ช่อง ประตูหน้าต่างปั้นปูนเป็นซุ้มเรือนแก้วประดับกระจก เสารวมด้านในเขียนลายประจำยาม ตอนล่างเขียนลายกรวยเชิง ฝาผนังภายในเขียนลายจิตกรรมฝาผนังเรื่องการดำเนินชีวิตในสมัยนั้น   พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลย์
- ซุ้มเสมา  ลักษณะเป็นแบบฝรั่ง มีทั้งหมด 8 ซุ้ม  ตั้งอยู่โดยรอบพระอุโบสถตามทิศทั้ง 8 ตามคติการใช้เสมาทั่วไป ทำด้วยหินทรายจีนเกะสลัก แผนผังซุ้มเป็นรูปสีเหลี่ยมลบมุมฐานซุ้มเป็นฐานปัทม์ ตัวเรือนซุ้มทั้งสี่มุมแกะสลักเป็นเสาอิงเจาะช่องวงโค้ง ภายในซุ้มประดิษฐานใบเสมาคู่  แกะสลักจากหินแกรนิต มีลักษณะใบเสมาเอวคอด ยอดใบเสมาทำเป็นทรงปริก บ่าเสมาแกะสลักบัวคอเสื้อเป็นกระจัง ตาเสมาทั้งสองข้างแกะสลักเป็นวงแหวน ใบเสมาทั้งอยู่บนฐานบัวซ้อนอยู่บนฐานสิงห์
- หอระฆัง  พระสุนทรสมาจารย์ (พรหม)  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 ตั้งอยู่ทางเหนือพระวิหารหลวง หน้าหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ ฐานรูปสี่เหลี่ยมกว้าง 8 เมตร สูง 30 เมตร ชั้นบนประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางลีลา ยอดหอระฆังปั้นเป็นรูปพรหมพักตร์ ชั้นล่างแขวนระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 192 ซม.  ระฆังใบนี้หล่อโดยช่างญี่ปุ่นชื่อ นายยีฟูยี วารา
- เจดีย์ทรงกลม  ขนาดเล็กทรงระฆังคว่ำ 2 องค์  ตั้งอยู่หน้าพระวิหารหลวงขนาดศาลาตรีมุข องค์เจดีย์ประดับด้วยหินอ่อน เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสูง 8 เหลี่ยม มีขนาดเท่ากันทั้ง 2 องค์ ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายและขวาของศาลาตรีมุข
- ซุ้มประตูโขลนทวารศิลาแกะสลัก  ซุ้มประตูเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีนใช้หินแกะแกรนิตสลัก ตั้งอยู่ระหว่างด้านหน้าของพระวิหารหลวงและประตูศาลาตรีมุข
- เจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร)  ปลัดทูลฉลองมหาดไทย พระยากัลยาณมิตรนิกรวงศ์ (คง กัลยาณมิตร)  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2442 เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำหินอ่อนสีขาวประดิษฐานอยู่ข้างพระวิหารหลวง
- เจดีย์เหลี่ยมย่อมุม   เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง องค์เจดีย์ทำด้วยหินแกรนิดแกะสลัก ฐานก่ออิฐถือปูนยกสูงตั้งอยู่ข้างเจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าพระยารัตนบดินทร์ฝั่งพระวิหารหลวง ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง
- เจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กับยาณมิตร)  เป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ 12 ตั้งบนฐานแปดเหลี่ยมประดับหินอ่อน มีกำแพงล้อมรอบมีบันไดขึ้นลงสองด้าน มีถะปรางค์หินแบบจีนประดับสี่มุมกำแพง
- เจดีย์ถะจีน  ถะทีสร้างขึ้นด้วยหินแกรนิตจีน เป็นถะแปดเหลี่ยมแบบยอดห้าชั้น ยกฐานสูง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ยอดถะแกะสลักมีลักษณะเป็นยอดปรางค์ มีถะขนาดเล็กล้อมรอบทั้งสี่มุมเหมือนเจดีย์บรรจุอัฐิของเจ้าพระยานิกรบดินทร์
- ศาลาเก๋งจีน  เป็นศาลาเก๋งจีนขนาดเล็กเดิมเป็นศาลาโถงโล่ง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 หลัง ศาลาเก๋งทั้งสองตั้งขนาบทางเดินจากศาลาท่าน้ำไปพระวิหารหลวง การประดับตกแต่งศาลาเก๋งจีนเป็นการประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นแบบจีน
- ศาลาการเปรียญ  อาคารตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ลานพุทธาวาส ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เดิมสร้างด้วยไม้ปัจจุบันรื้อศาลาการเปรียญเดิมออก แล้วสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ณ ตำแหน่งเดิมเป็นสถาปัตยกรรมในรูปแบบประเพณี
- ศาลาท่าน้ำ  ศาลาท่าน้ำมีจำนวน 3 หลัง เป็นศาลาโถงโล่ง ก่ออิฐถือปูน ศาลาท่าน้ำหลังกลางตั้งตรงกับเส้นทางไปสู่พระวิหารหลวงเป็นศาลาจัตุรมุข โดยมุขหน้าและมุขข้างเป็นหลังคาแบบสถาปัตยกรรมไทย คือมีช่อฟ้าใบระกา ส่วนมุขที่หันหน้าไปทางพระวิหารหลวงเป็นหลังคาแบบเก๋งจีนส่วนศาลาท่าน้ำอีก 2 หลัง เป็นศาลาแบบไทยประเพณีคือมีช่อฟ้าใบระกา


บรรณานุกรม   นพรัตน์ ถาวรศิริภัทร.  การศึกษาการออกแบบสถาปัตยกรรมเขตพุทธาวาส วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร.  วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม. (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม))--มหาวิทยาลัยศิลปากร, ภาพประกอบ, แปลน, แผนที่, 2551.