Main Menu

วัดนรนาถสุนทริการาม


GIFF5834


ประวัติความเป็นมา
 วัดนรนาถสุนทรริการาม เดิมชื่อว่า  วัดเทพยพลี  บางคนเรียกว่า  วัดฉิมพลี  สร้างสมัยรัชกาลที่ 2 ในปีพุทธศักราช 2394  รัชกาลที่ 4  โปรดให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษมและคลองนี้ตัดผ่านพื้นที่ของวัด
 สมัยรัชกาลที่ 5  พระยาโชฎึกราชเศรษฐี  (เสถียน โชติกเสถียร)  กับคุณหญิงสุ่น ภรรยาได้มีจิตศรัทธาสละทรัพย์ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ และกุฏิครั้นปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อย ได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5  ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย พระราชทานนามว่า  วัดนรนาถสุนทริการาม 
 สมัยรัชกาลที่ 7  ทรงเห็นความทรุดโทรมของวัด  ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐิน จึงโปรดให้ซ่อมแซมทั้งวัด ต่อมาปีพุทธศักราช 2475  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัติยนารี  พระราชธิดาในพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎฯ ได้ทรงซ่อมพระอุโบสถ พระวิหาร และกุฏิสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง
 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปูชนียวัตถุสถานภายในวัดแตกร้าวหักพัง ทางวัดได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ สร้างกุฏิสงฆ์ และศาลาการเปรียญ

สถานะและที่ตั้ง
 วัดนรนาถสุนทริการาม  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตังอยู่เลขที่ 66 แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 77 ตารางวา

 พระอุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน  ลักษณะทรงไทยมุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันด้านหน้า และด้านหลังใช้ปูนปั้นเป็นลายเถาเปลว ตรงกลางหน้าบันมีรูปปูนปั้นพระอินทร์ประทับนั่งบนแท่น ลงรักปิดทอง ประดับกระจกสี พื้นปูด้วยแผ่นหินอ่อน  ฝาผนังด้านนอกฉาบด้วยปูน ซุ้มประตูหน้าต่างด้านนอกเป็นปูนปั้นลายดอกไม้ทุกช่อง ฝาผนังด้านในฉาบปูนทาสีทองบานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำลายดอกไม่ก้านแย่ง ด้านในเขียนภาพพระพุทธประวัติด้วยสีน้ำมันทุกบาน มีระเบียงด้านหน้าและด้านหลัง

 พระประธาน  ในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูป ลงรักปิดทองปางมารวิชัย

 พระวิหาร  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน  ลักษณะแบบจีน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ มีระเบียงล้อมรอบก่ออิฐถือปูน ด้านหน้ามีรูปปั้นสิงโตคู่ ยืนหันหน้าเข้าหากัน สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2418

 พระเจดีย์  ลักษณะก่ออิฐถือปูนลักษณะทรงกลม ภายในเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 20 เมตร สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2418

 ศาลาการเปรียญ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ปูด้วยไม้กระดาน หลังคาไม้มุงด้วยกระเบื้องสร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2418

 หอไตร  โครงสร้างเป็นไม้สักและเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ต้น

 พระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าซุ้มพระพุทธรูป ปางห้ามสมุทร

บรรณานุกรม
พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ] พระอารามหลวง. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551.