Main Menu

วัดสังเวชวิศยาราม

DSC 0058


ประวัติความเป็นมา
 วัดสังเวชวิศยาราม เป็นวัดโบราณ เดิมเรียกว่า  วัดสามจีน  ตามตำนานเล่าว่า ชาวจีน 3 คน  ร่วมกันสร้างวัด ต่อมาได้เรียกชื่อตามตำบลที่ตั้งว่า วัดบางลำพู  มีปริศนาลายแทงขุมทรัพย์ว่า  ตำบลวัดสามจีน มีหินสามก้อน ที่นอนสามอัน มีต้นโศกเอนที่เจ้าเณรนั่งฉัน ในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดบางลำพูพระราชทานแก่นักชี ยายพระองค์เจ้าขัตติยา ต่อมารัชกาลที่  3 โปรดให้บูรณะวัดใหม่ ได้ย้ายพระอุโบสถไปสร้างในสถานที่ตั้งปัจจุบัน  สมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้นายสุดปลัดกรมช่างหล่อ บูรณะพระประธานในพระอุโบสถแล้วพระราชทานนามวัดว่า  วัดสังเวชวิศยาราม
 ปีพุทธศักราช 2412  วัดสังเวชวิศยารามประสบอัคคีภัย อาคารเสนาสนะถูกเพลิงไหม้เสียหายเหลือเพียงพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอระฆังล่าง หอไตรคณะล่าง ศาลาหน้าพระวิหารที่เป็นโรงเรียนปัจจุบัน ตัวพระวิหารถูกเพลิงไหม้เพียงหลังคา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาทรงบัญชาการดับเพลิงที่สะพานข้ามคลองบางลำพู (สะพานฮงอุทิศ)  และโปรดให้รื้อพระเมรุที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปสร้างเป็นกุฏิเสนาสนะในวัดสังเวชวิศยารามแทนของเดิมที่ถูกเพลิงไหม้ แล้วโปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราภิบาล ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ อาคารเสนาสนะในพระอารามให้บริบูรณ์ดังเดิม

สถานะและที่ตั้ง
 วัดสังเวชวิศยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร  ตั้งอยู่เลขที่ 110  ถนนพระอาทิตย์  แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 11 ตารางวา

สิ่งสำคัญในพระอาราม
 พระอุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน  มีพาไลด้านหน้าและด้านหลัง หลังคามุงประเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันปูนปั้นลายดอกไม้จีน ผนังภายในเขียนเป็นลายประแจจีน ดอกไม้ร่วง เพดานล่องชาดลอยดาวฉลุทอง บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ พัทธสีมาอยู่ในซุ้มก่ออิฐถือปูนรูปมณฑป กำแพงแก้วก่ออิฐถือปูน สร้างในรัชกาลที่ 3

 พระประธาน  ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ฝีมือช่างสมัยทวารวดี ขนาดสูง 3 เมตร หน้าตักกว้าง 4.35 เมตร

 พระวิหาร   เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีพาไลหน้าหลังเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา ทำด้วยไม้ ลงรักปิดทอง บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ เพดานล่องชาด ลอยดาวฉลุทอง

 พระปรางค์  มี 8   องค์ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ พระปรางค์องค์ใหญ่ล้อมรอบด้วยพระปรางค์องค์เล็ก 7 องค์  ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว

 พระวิหารพระศรีอาริยเมตไตรย์  เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2520

 หอพระไตรปิฏก  เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ลักษณะทรงไทย สร้างสมัยรัชกาลที่ 1

 หอระฆัง  เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก  กว้าง 6.50 เมตร  ยาว 6.50 เมตร

บรรณานุกรม
พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ] พระอารามหลวง. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551.