Main Menu

วัดสระเกศ

DSC 8260
สถานะที่ตั้ง

 
วัดสระเกศเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร  มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 12 ไร่ 22 ตารางวา
ตั้งอยู่ริมคลองมหานาคและคลองรอบกรุง แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100


ประวัติความเป็นมา


เป็นวัดโบราณ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดสระแก” รัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ขุดคลองรอบเมืองตั้งแต่บางลำพูถึงตอนเหนือวัดจักรวรรดิราชาวาส คลองหลอด และคลองเหนือวัดสระแก พระราชทานนามว่า คลองมหานาคเมื่อขุดคลองแล้วพระราชทานนามว่า “วัดสระเกศ”  ซึ่งแปลว่า ชำระหรือทำความสะอาดพระเกศา เนื่องจากวัดนี้เคยเป็นที่ประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชาเพื่อปราบจลาจลในกรุงธนบุรีและเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีพุทธศักราช 2325
 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอารามและสร้างเสนาสนะต่างๆเพิ่มขึ้น


สิ่งสำคัญในพระอาราม


พระอุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กหลังคาลดสามชั้น มุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดให้สร้างอยู่ทางทิศตะวันออกหรือ ด้านหน้าพระอาราม ภายในกำแพงแก้วติดกับพระวิหาร มีพระระเบียงคดล้อมรอบ 4 ด้าน ลักษณะงดงามมาก หน้าบันไม้แกะสลักปิดทอง ประดับกระจกภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ ซุ้มประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ ผนังภายในมีภาพจิตรกรรมของเดิมครั้งรัชกาลที่ 3  ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เหมือนของเดิม  จิตรกรรมฝาผนัง ตอนบนเขียนภาพเทพยดา ตอนล่างเขียนภาพเล่าเรื่องทศชาติผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพ มารผจญ ผนังด้านหลังเขียนภาพเล่าเรื่องไตรภูมิ
 รอบพระอุโบสถมีซุ้มเสมาตั้งประจำ 8 ทิศ มีลักษณะแบบกูบช้างหน้านาง ประดับด้วยกระเบื้องมีใบเสมาคู่ สลักด้วยศิลาประดับกระจกสี ซุ้มเสมามีลักษณะงดงามและได้รับยกย่องเป็นแบบอย่างทางศิลปะ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงสรรเสริญไว้ว่า “ซุ้มวัดสระเกศ วิจิตรสวยงามมาก ควรถือเป็นแบบอย่างได้”


 พระประธาน  ในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ


 พระระเบียง   รอบพระอุโบสถ มีซุ้มประตู 4 ทิศ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 163 องค์ พระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ และพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ และพระพุทธรูปปูนปั้น


 พระเจดีย์เหลี่ยม   ย่อมุมไม้สิบสอง ลักษณะก่ออิฐถือปูน รายรอบพระอุโบสถภายในกำแพงแก้ว จำนวน 12 องค์


พระวิหาร   เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 บานประตูหน้าต่างเป็นไม้แกะสลัก ห้องด้านตะวันออกประดิษฐานพระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางประทานอภัย สมัยสุโขทัย ขนาดใหญ่ ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้อัญเชิญมาจากวัดวิหารทองจังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าอัญเชิญมาคราวเดียวกันกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ อัญเชิญพระพุทธชินสีห์จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก มาประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศ ราวปี พ.ศ. 2372 มีประณามว่า พระอัฏฐารส ศรีสุคต ทศพลญาณบพิตร
 ห้องด้านตะวันตกมีผนังก่ออิฐถือปูน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปิดทองปางมารวิชัยผินพระพักตร์ไปทางทิศใต้ จารึกนามบนแผ่นหินอ่อนว่า หลวงพ่อดุสิต ซึ่งเดิมเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดดุสิต


 หอไตร   เป็นอาคารไม้ ลักษณะทรงไทย หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา มีเฉบียงโดยรอบ อยู่ในเขตสังฆาวาสด้านทิศใต้พระบรมบรรพต สร้างในรัชกาลที่ 1 เดิมอยู่กลางสระน้ำ รัชกาลที่ 3 บูรณะปฏิสังขรณ์วัดสระเกศได้บูรณะหอไตร


 พระตำหนัก   อยู่ใกล้หอไตร เป็นอาคารโถงขนาด 7 ห้อง มีฝากั้น เป็น 2 ส่วน ฝาที่กันมีลายแกะสลักงดงาม เดิมเป็นกุฏิเจ้าอาวาส


โพธิ์ลังกา  อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ นอกพระระเบียง ในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้อัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยามา จำนวน 6 ต้น  พระราชทานให้ไปปลูกที่เมืองนครศรีธรรมราช 2 ต้น  เมืองกลันตัน 1 ต้น อีก 3 ต้น ให้ปลูกที่อารามหลวงในกรุงเทพ คือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ วัดสุทัศเทพวราราม และวัดสระเกศ


พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค)  เป็นแม่กองก่อสร้างแบบพระปรางค์ฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จ ต่อมาพระบาทสมเด็จเจ้าพระยาบรมมาหพิชัยญาติ เป็นแม่กองสร้างต่อ แต่เปลี่ยนแบบเป็นภูเขา และก่อพระเจดีย์ทรงลังกาไว้บนยอด พระนามว่า พระบรมบรรพต สร้างเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บรรจุพระบรมสารีริกฐาตุ 2 ครั้ง ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2420 ครังที่ 2 ปี พ.ศ. 2441  ที่คูหาสถูปยอดพระบรมบรรพต และทรงแบ่งบางส่วนแก่ญี่ปุ่น ลังกา พม่า และไซบีเรีย

บรรณานุกรม
พระอารามหลวง.  คณะผู้จัดทำ พิสิฐ  เจริญสุข [และคนอื่นๆ]  กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม,2551.