Main Menu

วัดจักรวรรดิราชาวาส

DSC 3483

สถานะและที่ตั้ง 


วัดจักรวรรดิราชาวาส  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่  225 แขวงจักรวรรดิ  เขตสัมพันธวงศ์  กรุงเทพมหานคร  มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 22 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา

ประวัติความเป็นมา

 
วัดจักรวรรดิราชาวาส  เป็นวัดโบราณ มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดนางปลื้ม ต่อมาเรียกว่า  วัดสามปลื้ม  ในสมัยรัตนโกสินทร์  ซึ่งสันนิษฐานว่า อาจเป็นนางสามคนร่วมกันสร้างวัด  หรือเพราะอยู่ใกล้สามเพ็ง จึงเพี้ยนเป็นสามปลื้ม และมีคลองสามปลื้มผ่านริมวัดนี้ด้วย ปัจจุบันคงเหลือถาวรวัตถุของเดิมคือพระวิหารเก่าด้านตะวันออก ภายในประดิษฐานพระป่าเลไลยก์ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)  แม่ทัพใหญ่ของไทยในสมัย รัชกาลที่ 3 ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ ทั้งอาราม ในปี พ.ศ. 2362  แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า  วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร
ในปีพุทธศักราช 2370 เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้อัญเชิญพระบาง มาจากนครเวียงจันทน์  รัชกาลที่ 3  โปรดให้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสร้างพระวิหารขึ้นทางด้านตะวันตกของพระอุโบสถ  เพื่อประดิษฐานพระบาง  เมื่อรัชกาลที่ 3  เสด็จมาทอดผ้าพระกฐิน ได้ทอดพระเนตรเห็นพระวิหารพระบางสูงกว่าพระอุโบสถ จึงมีรับสั่งทักท้วง เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ทางด้านเหนือของพระอุโบสถเดิม พระอุโบสถเดิมจึงกลายเป็นพระวิหารมาจนปัจจุบันนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบางกลับคืนไปยังนครหลวงพระบาง แล้วโปรดให้อัญเชิญ พระนาก มาประดิษฐานไว้ในพระวิหารแทนพระบาง และยังคงอยู่จนบัดนี้ ได้รับยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2362


สิ่งสำคัญในพระอาราม


พระพุทธปรางค์   สร้างในสมัยพระพุฒาจารย์ (มา)  เป็นเจ้าอาวาส ระหว่าง พ.ศ. 2443-2457  อยู่ด้านเหนือของพระมณฑปประพุทธบาท มีระเบียงคดรอบฐานทักษิณ ระเบียงชั้นสองส่วนที่อยู่ตรงกับมุมหลังคา เป็นรูปเก๋งจีน ราวลูกกรงระเบียงที่ฐานทักษิณชั้นสองด้านใต้เคลือบสีเขียวลายแก้วชิงดวงแบบจีน ฐานพระปรางค์เป็นฐานสิงห์ครรภธาตุประกอบด้วยซุ้มทิศ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืน


มณฑปพระพุทธบาท  ลักษณะทรงจตุรมุขยอดปรางค์ หน้าบันประดับลวดลาย ซุ้มและกรอบประตูหน้าต่าง ปิดทองประดับกระจก ผนังประดับปูนปั้นลายหน้าสิงห์ ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทและพระพุทธรูปหล่อปิดทองปางป่าเลไลยก์


เขาพระพุทธฉายและถ้ำพระพุทธไสยาสน์   อยู่ทางด้านใต้ของพระวิหารเก่า ก่อเป็นรูปเขามอ  ตอนบนมีรูปพระพุทธฉายส่วนภายในถ้ำประดิษฐาน  พระพุทธไสยาสน์ และ พระสังกัจจายน์

 
ศาลาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา   ภายในประดิษฐาน พระพุทธมหามงคล  เป็นพระพุทธรูปหล่อ ปิดทองปางสดุ้งมาร


หอระฆัง   เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 3.40 เมตร  ยาว 3.40 เมตร  สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2478


ศาลาการเปรียญ   เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก  ลักษณะทรงจตุรมุข สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2511

บรรณานุกรม
พระอารามหลวง.  คณะผู้จัดทำ พิสิฐ  เจริญสุข [และคนอื่นๆ]  กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม,2551.