Main Menu

วัดราชบุรณราชวรวิหาร


DSC 3430

 


สถานะที่ตั้ง

 
ที่ตั้ง 119 อยู่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร แขวงบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติความเป็นมา


วัดราชบุรณะ เดิมชื่อ "วัดเลียบ" สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงพระราชศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์ สถาปนาวัดเลียบขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปีพุทธศักราช 2336 โดยพระราชทานนามว่า "วัดราชบุรณราชวรวิหาร"
          ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สร้างพระอุโบสถและพระวิหารขึ้นใหม่มีพระระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดนำมาจากหัวเมือง 162 องค์
 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้ขุดคูรอบพระอาราม 3 ด้าน ปากคูจรดคลองโอ่งอ่างซึ่งเป็นคูพระนคร โปรดให้สร้างพระปรางค์ ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่ง ประดับกระเบื้องเคลือบทั้งองค์ สมัยรัชกาลที่ 4 วัดราชบุรณะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ เนื่องจากมีการตัดถนนตรีเพชรผ่านกลางวัด โปรดให้สร้างห้องแถวให้ประชาชนอยู่อาศัย เพื่อเก็บผลประโยชน์บำรุงวัด ส่วนพื่นที่ด้านหลังห้องแถวโปรดให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
 ปีพุทธศักราช 2488 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดราชบุรณะถูกระเบิดทางอากาศทำให้พระอุโบสถ พระวิหาร และกุฏิเสนาสนะเสียหายมาก คณะสังฆมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีมติว่าสมควรยุบเลิกวัดเสีย จึงนำความกราบบังคมทูล และได้ยุบเลิกตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พุทธศักราช 2488 และทางวัดได้อนุญาตให้วัดต่างๆ ในหัวเมือง อัญเชิญพระพุทธรูปที่ประดิษฐานพระระเบียงไปประดิษฐานยังวัดของตนได้ตามแต่ประสงค์ พระพุทธรูปเหล่านั้นจึงกระจายไปอยู่ตามวัดต่างๆ หลังสงครามสงบลงการบูรณะจึงเริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าและเททองหล่อพระประธานดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งการบูรณะในครั้งนี้ผู้ออกแบบคือ ศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) เรือนแก้วซุ้มพระประธานภายในเป็นฝีมือนายฟู อนันตวงษ์  พระปรางค์ไม่ได้รับภัยจากระเบิดแต่ชำรุดตามกาลเวลากระทรวงมหาดไทยได้บูรณะในปีพุทธศักราช 2505
           วัดราชบุรณะนี้ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชสมัย รัชกาลที่ 2 และ 3 ทั้งยังมีพระภิษุที่มีชื่อเสียง 2 องค์ คือ สมเด็จพระศรีสมโพธิราชครู (ขรัวอีโต้) และขรัวอินโข่ง มีชีวิตอยู่ในช่วง รัชกาลที่ 1 และ 2 ท่านได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากมหาชนตลอดจนเจ้านายทั้งหลาย ครั้นเมื่อท่านเสี่ยงความบริสุทธิ์ด้วยการลอยมีดโต้ลอยน้ำในสระกลางวัด ปรากฏว่ามีดโต้ลอยน้ำอย่างน่ามหัศจรรย์ นับแต่นั้นท่านก็ได้รับความศรัทธาเลื่อมใสจากมหาชนตลอดจนเจ้านายทั้งหลาย และพระพิมพ์ของท่านชื่อว่า พระขรัวอีโต้ จำนวน 84,000 องค์ ที่ถูกค้นพบในพระเจดีย์ที่ถูกรื้อในปี พ.ศ. 2472 เพื่อใช้พื้นที่สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นั้นเป็นที่นับถือแพร่หลายเช่นเดียวกับพระพิมพ์สมเด็จวัดระฆัง หรือพระรอด และนอกจากนั้นยังมีแผ่นศิลาจารึกปริศนาด้วยอักษรขอมอีกแผ่นหนึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ในตู้ภายในพระอุโบสถ ขรัวอินโข่ง เป็นพระภิกษุอีกรูปที่มีชื่อเสียงในฐานะจิตรกรเอก ในพระราชสำนักผู้หนึ่ง ผลงานจะมีอยู่ทั้งในพระนครและหัวเมืองแต่ไม่ปรากฏประวัติละเอียด ท่านเป็นจิตรกรท่านแรกที่นำเทคนิคภาพเขียนแบบยุโรปมาผสมผสานกับลักษณะดั้งเดิมของไทย คือ การใช้แสงเงาทำให้เกิดภาพแบบสามมิติ ผลงานของท่านในปัจจุบันคือ ภาพลายรดน้ำที่หอไตรวัดชัยชนะสงคราม(วัดตึก) จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร  ภาพจิตรกรรมฝาผนังในหอพระคันธารราษฎร์ หอพระราชกรมานุสร และหอพระราชพงศานุสรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถวัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี และสมุดร่างภาพรามเกียรติ์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  ที่วัดราชบุรณะนี้ ขรัวอินโข่งเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถหลังเดิม ซึ่งถูกระเบิดทำลายไปเมื่อปี พ.ศ. 2488 นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งที่ไม่เหลือผลงานอยู่ในวัดที่ท่านจำพรรษาจนมรณภาพ

สิ่งสำคัญในพระอาราม


 พระประธาน   ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปแบบพระพุทธชินราช พระนามว่า  พระพุทธมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อในพระอุโบสถเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2503


 พระปรางค์   สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ฐานกว้างด้านละ 15 วา  สูงจากพื้นถึงยอดนภศูล และยอดฉัตร 16 วา 2 ศอก ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งองค์  เป็นพระปรางค์ย่อมุมไม้ยี่สิบแปด  มีฐานบัวซ้อนขึ้นไป 5 ชั้น แต่ละชั้นทำเป็นรูปมารแบกโดยรอบ ชั้นซุ้มค่อนข้างสูงเหนือชั้นซุ้มขึ้นไปเป็นชั้นกลีบขนุน 8 ชั้น ยอดพระปรางค์เป็นนภศูล มีมงกุฎครอบบนนภศูลอีกทีหนึ่ง

 
 ศาลาสมเด็จ   เป็นศาลาตรีมุข ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ยาว 60 เมตร  ลักษณะคล้ายศาลารายแต่ยกพื้นสูง แบ่งเป็นสองตอน พระคุณาจารวัตรร่วมกับคณะกรรมการสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2518

บรรณานุกรม
พระอารามหลวง.  คณะผู้จัดทำ พิสิฐ  เจริญสุข [และคนอื่นๆ]  กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม,2551.