Main Menu

วัดอินทรวิหาร

watindharaviharn

สถานะและที่ตั้ง

วัดอินทรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 144 ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้สี่แยกบางขุนพรหม แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ เนื้อที่ 21 ไร่ 1 งาน 86 ตารางวา

ประวัติความเป็นมา

เป็นวัดโบราณ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดบางขุนพรหมนอก ตามชื่อตำบล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานที่ดินให้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของครอบครัวชาวเวียงจันทน์ ต่อมาเจ้าอินทร์ น้าชายของเจ้าน้อยเขียวค่อม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 1 ได้บูรณปฏิสังขรณ์ ขึ้นใหม่ เรียกว่า วัดอินทาราม ได้นิมนต์พระสงฆ์ชาวเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนา ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ขึ้นปกครองวัด โดยมีหลักฐานปรากฏอยู่ในวัดอินทรวิหาร คือ หนังสือคัมภีร์พระธรรมจารด้วยอักษรลาว สมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ริเริ่มสร้างพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ขึ้น 1 องค์ สำเร็จในสมัย รัชกาลที่ 7 และทรงเปลี่ยนนามวัดว่า วัดอินทรวิหาร เนื่องจากนามเดิมไปพ้องกับวัดอินทราราม (วัดบางยี่เรือใต้) ฝั่งธนบุรี ประชาชนนิยมเรียก วัดอินทร์ วัดหลวงพ่อโต วัดอินทร์บางขุนพรหม

สิ่งสำคัญในพระอาราม

พระอุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นซุ้ม เสมาปูนปั้น ประดับกระจก ศิลปะสมัยอยุธยา พื้นปูด้วยหินอ่อน และหินแกรนิต ผนังภายในเขียนภาพประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) มีเครื่องเบญจรงค์ลวดลายไม่ซ้ำกัน จำนวน 244 ชุด บรรจุในช่องกำแพงแก้วเพื่อเป็นการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมไทย

พระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยปูนทราย พระนามว่า หลวงพ่ออินทร์

หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ปางอุ้มบาตร ห่มจีวรคลุม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ เป็นผู้ริเริ่มสร้าง ภายหลังมีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ปี พ.ศ. 2525 ฉลองรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีการประดับเครื่องโมเสกสีทอง 24 เค จากประเทศอิตาลีทั้งองค์ รัฐบาลศรีลังกามอบพระบรมสารีริกธาตุแก่พุทธศาสนิกชนไทยใส่ไว้บนยอดพระเกศมาลา

เจดีย์ มี 3 องค์ ลักษณะก่ออิฐถือปูนอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ

บ่อน้ำพระพุทธมนต์ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้าง หลวงพ่อโต เดิมมีอาคารไม้คลุมต่อมา ปี พ.ศ. 2530 เจ้าอาวาสขณะนั้น ได้รื้ออาคารเดิมและสร้างอาคารใหม่รูปทรงคล้ายเจดีย์ศิลปะไทยประยุกต์แทนแล้วเสร็จปี 2531

มณฑปรอยพระพุทธบาทจำลอง อยู่ด้านหลังองค์หลวงพ่อโตมีบันไดขึ้นทางด้านพระวิหารพระประจำวัน มีรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยหินอ่อน เป็นของเก่าอยู่คู่มากับวัด

หอระฆัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สร้างตั้งแต่สมัยโบราณ

 

บรรณานุกรม
พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ] พระอารามหลวง. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551.