Main Menu

วัดราชาธิวาส

วัดราชาธิวาส


สถานะและที่ตั้ง  วัดราชาธิวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 3 ถนนสามเสน 9 แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 34 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา

ประวัติความเป็นมา

วัดราชาธิวาส เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัด สมอราย สมเด็จพระบวรราชเจ้า
มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชได้เคยเสด็จประทับวัดนี้ ครั้นเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชาธิวาสวิหาร ซึ่งแปลว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา ได้รับยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อปีพุทธศักราช 2367

สิ่งสำคัญในพระอาราม

พระอุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กหลังคามุงกระเบื้อง สร้างขึ้นแทนพระอุโบสถหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงออกแบบสร้างใหม่โดยรักษาผนังพระอุโบสถเดิมด้านหลังไว้ โดยทรงวางแนวเสา และผนังโบสถ์ใหม่ครอมโบสถ์เก่าไว้ ลักษณะรูปทรงและลวดลายเลียนแบบสถาปัตยกรรมขอมมีเสาพาไลรอบ ภายในพระอุโบสถกั้นเป็น 3 ห้อง ห้องแรกเป็นโถงทางเข้าสู่ห้องกลาง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ภายใต้พุทธบัลลังก์บรรจุพระบรมราชสรีรังคารของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถเล่าเรื่องพระเวสสันดร ชาดก ทั้ง 13 กัณฑ์ ฝีพระหัตถ์ทรงร่างของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ผู้เขียนภาพ คือ นายริโกลี ชาวอิตาเลียน เป็นจิตรกรรมอันเป็นวิธีการแบบใหม่ในสมัยนั้น ห้องหลังสุดประดิษฐานพระสัมพุทธวัฒโนภาส พระประธานองค์เดิมของวัดภายใต้พุทธบัลลังก์บรรจุพระบรมราชสรีรังคารของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระประธาน ในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ พระนามว่า พระสัมพุทธพรรณี

พระเจดีย์ ประดิษฐานอยู่หลังพระอุโบสถเป็นพระเจดีย์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อถึงรัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นรูปทรงเลียนแบบสมัยศรีวิชัย ครอบพระเจดีย์องค์เดิม ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างต่อโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์เป็นผู้ควบคุมการออกแบบและการก่อสร้าง ได้ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาแบบมหายานในซุ้มคูหาทั้ง 4 ทิศ

ศาลาการเปรียญ อยู่ทางด้านหน้าวัด เป็นอาคารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้สร้างเลียนแบบศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี (ซึ่งเป็นท้องพระโรงเก่าสมัยพระเจ้าเสือ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา) เสาเป็นไม้ขนาดใหญ่ หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีมุขและมุขลดทั้งหน้าหลัง หน้าบันทั้ง 2 ด้าน มีตราเครื่องหมายเป็นสำคัญ คือ ด้านหน้า (ด้านแม่น้ำเจ้าพระยา) มีตราจุลมงกุฎ หรือพระเกี้ยว อันเป็นพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 5 ด้านหลัง (ด้านตะวันออก) มีตราวชิราวุธ อันเป็นพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 6 ศาลาการเปรียญหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมไม้ขนาดใหญ่และสวยงาม

ตำหนักพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาคารทรงไทย ประดับช่อฟ้า ใบระกา เป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นทรงผนวช และทรงจำพรรษาที่วัดนี้ขณะนั้นมีชื่อว่าวัดสมอราย

ตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวง เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ รัชกาลที่ 7 โปรดให้ย้ายมาจากพระราชวังพญาไททั้งหลัง มาสร้างขึ้นที่ วัดราชาธิวาสวิหารนี้ เมื่อ พ.ศ. 2475

ตำหนัก 4 ฤดู เป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่เป็นแบบตึก สร้างขึ้นโดยจำลองพระตำหนัก 4 ฤดู ในวังสุโขทัยที่รื้อออกไป มีวัสดุที่มาประกอบได้เพียงประตูตัวอาคารเป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระอุโบสถ

อาคารพระธรรมวโรดม 100 ปี เป็นอาคารแบบไทยประยุกต์ ขนาดกว้าง 10.50 เมตร ยาว 40 เมตร 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องโถงใช้เป็นห้องประชุม

 

บรรณานุกรม
พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ] พระอารามหลวง. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551.