Main Menu

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร

ที่ตั้ง

ที่ตั้ง : 69 ถนนนครปฐม แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 เนื้อที่ 26ไร่ 1งาน 66ตารางวา

อาณาเขตวัด

ตั้งอยู่บริเวณถนนนครปฐมติดคลองเปรมประชากร ระหว่างสถานที่สำคัญๆ คือ พระราชวังดุสิต พระที่นั่งอนันตสมาคม พระตำหนักจิตลดารโหฐาน เขาดินวนา และทำเนียบรัฐบาล มีกำแพงล้อมรอบและซุ้มประตูเข้า-ออก เป็นเหล็กหล่อลวดลายโปร่งเหมือนกันหมดทั้ง 4 ด้าน

  • ทิศเหนือ : มี 3 ประตู
  • ทิศใต้ : มี 2 ประตู ทิศตะวันออก : มี 3 ประตู
  • ทิศตะวันตก : มี 2 ประตู
  • ประวัติ

    เป็นอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดโบราณ ชื่อเดิมว่า “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” สมัยรัชกาลที่ 5 กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 โปรดตั้งกองทัพรับขบถเจ้าอนุวงศ์ที่วัดนี้ หลังเสร็จจากการรบแล้วได้มีศรัทธาปฏิสังขรณ์วัดแหลม โดยร่วมกับพระเจ้าน้องยาเธอ รวม 4 พระองค์ คือ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล และพระองค์เจ้าหญิงวงศ์ ในการปฏิสังขรณ์ครั้งนี้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ 5 องค์ เรียงอยู่ด้านหน้าวัด สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดเบญจมบพิตร” หมายถึง วัดของเจ้านาย 5 องค์ ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงขยายพระนคร ซื้อที่ดินบริเวณคลองสามเสนและคลองผดุงกรุงเกษมตอนเหนือของวัดเบญจมบพิตรที่ทรุดโทรมทรงทำผาติกรรมขึ้นเป็นวัดใหม่ให้งดงามสมกับเป็นพระอารามหลวง โปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เป็นประธานในการก่อสร้างวัดใหม่ทั้งหมดแล้วพระองค์ทรงเป็นประธานในการผูกพัทธสีมาในปี 2442 ทรงพระราชทานนามเติมอักษร “ม” และเพิ่มสร้อยว่า “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” หมายถึงวัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ทรงแสดงพระราชประสงค์ให้นำพระสรีรังคารมาบรรจุไว้ภายใต้รัตนบัลลังก์ พระ-
    พุทธชินราชพระประธานในพระอุโบสถ ปี 2444 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ โปรดให้สร้างด้วยหินอ่อนที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี และในปี 2453 พระองค์ได้เสด็จสวรรคตก่อนการสร้างแล้วเสร็จ
    สมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้ดำเนินการต่อ โปรดให้ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับตกแต่งหินอ่อนฝาผนังและพื้นพร้อมรัตนบัลลังก์ ให้ช่างเขียนลายไทยที่ฝาผนัง และอัญเชิญพระสรีรังคารในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาบรรจุไว้ใต้รัตนบัลลังก์พระพุทธชินราชในพระอุโบสถ

    สถาปัตยกรรมที่สำคัญ

    พระอุโบสถ ประดับตกแต่งด้วยหินอ่อนทั้งหลัง อาคารทรงจัตุรมุข มีมุขเด็จยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาซ้อนกัน 5 ชั้นมุงกระเบื้องกาบูสีเหลือง ลักษณะเป็นกาบโค้ง กระเบื้องเชิงชายเทพพนม มีระเบียงคดล้อมรอบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักปิดทอง หน้าบันแกะสลักด้วยไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก หน้ามุขเด็จ ด้านหน้าเป็นรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ส่วนมุขเด็จด้านหลังเป็นรูปอุณาโลมประดับกระจก หน้าบันด้านอื่นๆ เป็นรูปต่างๆไม่ซ้ำกัน ฝาผนังภายในเขียนภาพลายไทยเทพพนมทรงข้าวบิณฑ์สีเหลืองตลอดถึงเพดาน บนขื่อทั้งหมดมีภาพเขียนลายทองรดน้ำ เพดานประดับดาวกระจาย ซุ้มหน้าต่างเป็นเรือนแก้วฐานเท้าสิงห์ บานประตู 3 ด้าน จำหลักโลหะภาพนูน ด้านหน้าเป็นภาพมารผจญ ด้านเหนือเป็นภาพเจดีย์จุฬามณี ด้านใต้เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ ที่ซุ้มมุขด้านตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ปิดทอง เป็นพระพุทธรูปที่หล่อจากเศษทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราชจำลองเรียกกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อธรรมจักร”


    พระประธาน ในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อเมื่อปี 2444 เป็นพระนั่งสมาธิราบ ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย จำลองจากองค์จริงที่จังหวัดพิษณุโลกคือ พระพุทธชินราช


    พระระเบียงคด ลักษณะเป็นมุขกระสันต่อจากมุขพระอุโบสถด้านทิศใต้โอบไปทางตะวันตกมาจรดมุขด้านหน้า พื้นระเบียงปูหินอ่อนตัดเป็นลายตลอด เสากลมหินอ่อนทั้งแท่ง 64 ต้น เสาเหลี่ยมประกบแผ่นหินอ่อน 28 ต้น ปลายเสาปั้นบัวปิดทองประดับกระจก ขื่อทั้งหมดลงรักปิดทองลายรดน้ำ เพดานในล่องชาดประดังดาว 610 ดวง มุขกลางเป็นจตุรมุข ผนังด้านในถือปูนด้านนอกประดับหินอ่อนตลอด และทำหน้าต่างลูกมะหวดเป็นระยะๆ รอบพระระเบียง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักปิดทอง หน้าบันต่างๆ ลงรักปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายจำหลัก ตราประจำกระทรวงต่างๆ สมัยรัชกาลที่ 5 รวม 10 กระทรวง ใต้หน้าบันนอกจากที่ตรงประตูมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปรวม 4 องค์ มีพระพุทธรูปโบราณปางและสมัยต่างๆ ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯนำมาถวาย ประดิษฐานบนแท่นปั้นลาย ลงรักปิดทองเรียงรายไปตามพระระเบียง ปัจจุบันมี 52 องค์ สลับอิริยาบถนั่งและยืน จัดเป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปโบราณต่างๆ


    พระที่นั่งทรงผนวช เดิมอยู่ในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวชในปี 2416 ต่อมาโปรดให้รื้อมาสร้างถวายวัดเบญจมบพิตร ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระราชกรณียกิจและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5


    พระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา โปรดให้สร้างเพื่ออุทิศถวายเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปี 2445 พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระประสงค์ใช้เป็นที่ประทับทรงศีลในวัดอุโบสถ


    พระวิหาร ส.ผ. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี 2445 เพื่อใช้เป็นหอพระธรรมมีชื่อว่า หอสมุดพุทธสาสนสังคหะ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนรสิงห์จำลอง พระฝาง และพระพุทธรูปโบราณต่างๆ


    ศาลาหน้าพระอุโบสถ จำนวน 2 หลัง สร้างขึ้นเมื่อปี 2422 เป็นศาลาจตุรมุข


    ศาลาสี่สมเด็จ เป็นแบบจตุรมุข หน้าบันจำหลักลายและตราต่างๆ ทั้ง 4 ด้าน สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2443 ด้วยทุนทรัพย์ของสมเด็จ 4 พระองค์ คือ
    1.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจำหลักตรา พระเกี้ยว ที่หน้าบันทิศเหนือ
    2.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์จำหลักตรา จันทรมณฑล ที่หน้าบันทิศตะวันออก
    3.สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีกรมพระจักรพรรดิพงศ์ จำหลักตรา จักร ที่หน้าบันทิศใต้
    4.สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จำหลักตรา สุริโยทัย ที่หน้าบันทิศตะวันตก


    ศาลาบัณณรศภาค สร้างเมื่อปี 2444 เพื่อใช้เป็นโรงฉัน ด้วยทุนทรัพย์ของพระบรมวงศานุวงศ์ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณส่วนหนึ่งและเป็นที่บำเพ็ญกุศลในโอกาสต่างๆ


    ศาลาร้อยปีปิยมหาราชอนุสรณ์ เป็นอาคารชั้นเดียวสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ในอภิลักขิตสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชสมบัติครบรอบ 100 ปี ที่มุขด้านหน้าประดิษฐานพระบรมรูปของ สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า


    ศาลาธรรมชินราชปัญจบพิธ เป็นศาลาอเนกประสงค์อาคาร 5 ชั้น ประกอบด้วย ห้องประชุม ห้องสมุด ห้องเรียน ห้องสมาธิ ห้องสำนักงานต่างๆ


    พิพิธภัณฑ์พระอนุสรณ์ อ.ป.ก. เป็นตึก 2 ชั้น รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม สร้างถวายเป็นที่รับรองพระสงฆ์มาจากต่างประเทศ เมื่อคราวฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เดิมชื่อ อาคันตุกาศรมปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมเครื่องอัฐบริขารและของใช้ต่างๆ ของสมเด็จพระสังฆราช (ปรสต โสภณมหาเถร)


    หอระฆังบวรวงศ์ เป็นหอสูง เป็นหอสูงมีมุข 2 ด้าน ประดับดัวยแผ่นหินอ่อน สร้างเมื่อปี 2445 ด้วยทุนทรัพย์ของพระราชวงศ์ที่นับเนื่องในพระราชวังบวร หน้าบันทั้ง 2 ด้าน ให้จำหลักตราพระราชลัญจกร พระนารายณ์ทรงปืน อันเป็นตราประจำในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และตราพระราชลัญจกร พระลักษณ์หรือพระอรชุนทรงหนุมาน ของสมเด็จพระมหาอุปราช ส่วนระฆังนำมาจากวัดบวรสถานสุทธาวาส ในพระราชวังบวรสถานสุทธาวาส ในพระราชวังบวรสถานมงคล


    กุฏิสมเด็จ เป็นกุฏิพิเศษ สร้างเมื่อปี 2447 เชื่อมต่อจากพระวิหารสมเด็จ ส.ผ. เพื่อเป็นที่พักของสมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทยมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ผู้มาดูแลจัดการวัดระยะเริ่มแรก

    พระพุทธรูป
    เรื่องพระพุทธรูปต่างๆ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ...ดังพระดำรัสที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้รับสนองพระราชดำริได้ทรงแสดงไว้ในปาฐกถาแก่สมาชิกสยามสมาคม เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พุทธศักราช 2470 ความตอนหนึ่งว่า
    “...บรรดาพระพุทธรูปสำหรับจะประดิษฐานไว้ ณ วัดนี้ ควรจะเลือกหาพระพุทธรูปโบราณ ซึ่งสร้างขึ้นในประเทศและใสนมัยต่างๆ กัน อันเป็นของดีงามอยู่เป็นอันมาก รวบรวมมาตั้งแสดงให้มหาชนเห็นเป็นแบบอย่าง พระพุทธรูปต่างๆ โดยทางตำนานจึงโปรดให้สร้างพระระเบียงขึ้นในวัดนี้และโปรดฯ ให้เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะคิดจัดหาพระพุทธรูปแบบต่างๆ มาตั้งในพระระเบียงตามพระราชดำริ...” [150 ปี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับพัฒนาการโบราณคดีไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.]


    บรรณานุกรม
    ประยูร อุลุชาฎะ, 2471-2544. ศิลปกรรมในกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ 1999, 2542.
    พระอารามหลวง . คณะผู้จัดทำ พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ] กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวง
    วัฒนธรรม, 2551.
    อุไร สิงห์ไพบูลย์พร. อารามหลวงที่สำคัญและวัดประจำรัชกาล. กรุงเทพฯ : เอส.ที.พี. เวิลด์ มีเดีย, 2542.