Main Menu

วัดเทพธิดารามวรวิหาร

วัดเทพธิดารามวรวิหาร

ที่ตั้ง    เลขที่ 70 ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพ

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ จรด คลองวัดเทพธิดาราม
  • ทิศใต้ จรด ซอยสำราญราษฎร์
  • ทิศตะวันออก จรด ถนนมหาไชย
  • ทิศตะวันตก จรดอาคารที่พักอาศัย

ประวัติ
      วัดเทพธิดาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2379 โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแด่พระองค์เจ้าหญิงวิลาศ ซึ่งภายหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นทรงกรมเป็นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาที่พระบรมชนกนาถทรงโปรดปรานยิ่งนัก เพราะทรงเป็นพระราชธิดารับราชการใกล้ชิดของพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้สร้างถาวรวัตถุไว้เฉลิมพระเกียรติยศจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างวัดนี้ที่ตำบลสวนหลวงพระยาไกร ในการสร้างวัดนี้ พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพได้ทรงบริจาคทุนส่วนพระองค์ร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้จึงพระราชทานนามว่า "วัดเทพธิดาราม"

      สุนทรภู่เคยอุปสมบทและจำพรรษาที่วัดเทพธิดารามนี้ในปี พ.ศ. 2382-2385 ในระหว่างนั้นได้ประพันธ์บทกลอนไว้หลายเรื่อง แต่เรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับวัดเทพธิดารามมากที่สุดคือเรื่อง “รำพันพิลาป” ซึ่งพรรณาถึงความสวยงามวิจิตรพิสดารทิวทัศน์ ตลอดจนเครื่องประดับประดาพระอารามและปูชนียวัตถุหลายประการ ปัจจุบันทางวัดได้ตั้งชื่อกุฏิที่ท่านเคยอาศัยอยู่ว่า “กุฏิคณะสุนทรภู่” และหล่อรูปเครื่องตัวของสุนทรภู่ไว้ที่กุฏิเพื่อเป็นอนุสรณ์

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
      พระอุโบสถ พระอุโบสถสูง 16 เมตร ก่ออิฐถือปูนหลังคาซ้อน 2 ชั้น มุงกระเบื้องสีแบบไทย หน้าบันเป็นปูนปั้น ประดับกระเบื้องเป็นรูปพญานกและลวดลายทิวทัศน์แบบจีนในตอนล่าง พญานกนี้ถือเป็นเครื่องหมายพระราชินี คู่กับมังกรซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระราชา พญานกจะมาปรากฎให้เห็นเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงพระราชธรรมเป็นเครื่องหมายว่า สวรรค์ทรงโปรดปราน ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นปูนปั้นปิดทองลายดอกพุดตานอยู่ในกระเช้า บานประตูและหน้าต่างเป็นลายรดน้ำ เทพและนางอัปสรอยู่ภายในวิมานและกนกลายเปลวเพลิง เสาเหลี่ยมลบมุมไม่มีลวดลายที่ปลายเสา ฐานพระอุโบสถเป็นฐานสิงห์มีระเบียงรอบพระอุโบสถ พนักระเบียงมีกระเบื้องปรุลายดอกประจำยามซ้อนกัน 3 ชั้น เสาบันไดมีสิงโตประดับอยู่บนปลายซุ้มมีเสมาแบบจีน ภายในมีภาพเขียนสีด้วยสีฝุ่นดังนี้ คือ เพดานมีดาวเพดาน คอสองเป็นลายพวงมาลัย เสาเหลี่ยมหลบมุมขนาดใหญ่ ภายในพระอุโบสถมีลายดอกพุดตาน ส่วนล่างของเสาปูนนี้ประดับด้วยแผ่นหินอ่อน ฝาผนังลายพุ่มข้าวบิณฑ์ดอกพุดตาน บานหน้าต่างในและบานประตูด้านในเป็นลายโคมจีนและส่วนลึกของประตูหน้าต่างเป็นลายแจกันดอกไม้ ฝาผนังและเสามีภาพใส่กรอบเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเกร็ดพงศาวดารจีน ซุ้มประตูกำแพงพระอุโบสถประดับด้วยลายประแจจีนและลายพวงมาลัยภายในมีลายลักษณ์

      พระวิหาร ก่ออิฐถือปูนหลังคาซ้อน 2 ชั้น มี 3 ตับ ตับล่างเป็นปีกนกรอบหลังคา ไม่ประดับด้วยเครื่องแต่งตก หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีลวดลายเหมือนกันกับพระอุโบสถ ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นปูนปั้นปิดทองลายดอกพุดตาน บานประตูหน้าต่างด้านนอกมีลวดลายประดับ แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนบนของบานประตูเป็นลายรดน้ำทวารบาล ส่วนของบานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำดอกพุดตาน แต่ส่วนล่างของบานประตูและหน้าต่างเป็นภาพพุทธประวัติ บานประตูหน้าต่างด้านในเป็นลายเขียนสีลวดลาย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนบนเป็นลายกระถางบัวตั้งอยู่บนโต๊ะ ส่วนกลางเป็นลายแจกันดอกไม้ และส่วนล่างเป็นลายกระถางดอกไม้ ส่วนลึกของประตู หน้าต่างเป็นลายดอกบัว ปลา และนำ เพดานมีลายดาว เพดานบริเวณคอสองเป็นพวงมาลัย มีภาพเขียนของ ศ. ธรรมภักดี แขวนใส่กรอบไว้เหนือบานประตูและหน้าต่างเป็นเรื่องพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์ ฐานพระวิหารเป็นฐานสิงห์เสาเหลี่ยมลบมุม ไม่มีลวดลายที่ปลายเสา พนักระเบียงประดับด้วยกระเบื้องปรุสีเขียว 2 ชั้น เป็นลายประจำยามและลายดอกไม้ ด้านหน้าพระวิหารมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง 1 องค์ กำแพงรอบพระวิหารประดับด้วยกระเบื้องปรุสีน้ำตาล 2 ชั้น ลายประจำยาม

    ศาลาการเปรียญ  ก่ออิฐถือปูนทรงโรงแบบมีหน้ามุขหลัง ฐานเป็นฐานสิงห์ พนักระเบียงประดับด้วยกระเบื้องปรุลายดอกประจำยาม หลังคาหลังคาซ้อน 2 ชั้นมี 3 ตับ ตับล่างเป็นปีกนกมุงด้วยกระเบื้องเกล็ด ไม่มีช่อฟ้า ในระกา หางหงส์ หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังมีลวดลายเหมือนกัน คือ หน้าบันมีกรอบล้อ 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นลายเกลียวใบเทศ ชั้นในเป็นลายใบเทศ ส่วนบนของหน้าบันมีกรอบล้อมเป็นลายพวงอุบะอีกชั้นหนึ่ง ภายในเป็นลายพญานก คอสองส่วนบนเป็นลายดอกพุดตานและลายเฟื่องอุบะ ส่วนล่างเป็นลายดอกไม้และนก ลายเหล่านี้ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นดอกไม้บาน บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำ ส่วนบนเป็นลายดอกพุดตาน ส่วนล่างเป็นเรื่องพุทธชาดก เสาเป็นเสาเหลี่ยมลบมุมไม่มีลายที่ปลายเสาฐาน หน้าประตูทางเข้าศาลาการเปรียญมีสิงโตหินประดับกำแพงศาลาการเปรียญประดับด้วยกระเบื้องปรุ มีลายประแจจีนที่ซุ้มประตู ด้านหน้าศาลาการเปรียญมีเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้าง-ยาว ประมาณ 2.70 เมตร สูงประมาณ 10 เมตร

      พระปรางค์ มีทั้งหมด 4 องค์ ตั้งประจำทิศทั้ง 4 ของมุมพระอุโบสถ คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระปรางค์ทั้ง 4 นี้ แต่ละองค์ตั้งอยู่บนลานทักษิณสูง ที่ฐานปรางค์แต่ละองค์มีท้าวจตุโลกบาล คือ ท้าวธตรฐ วิรุฬหก วิรูปักข์ และกุเวร ประจำรักษาในทิศทั้ง 4

       วัดเทพธิดารามมีเครื่องประดับพระอาราม ได้แก่ ตุ๊กตาศิลาจีนที่มีทั้งที่เป็นรูปสัตว์และคน ตุ๊กตารูปคนตั้งอยู่ในบริเวณรอบพระอูโบสถ มีลักษณะที่น่าสนใจคือบางตัวมีลักษณะท่าทางและการแต่งกายแบบจีน บางตัวแต่งตัวแบบไทย เช่น ตุ๊กตาสตรีชาววังนั่งพับเพียบเท้าแขน และตุ๊กตาสตรีอุ้มลูก เป็นต้น

บรรณานุกรม 

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณ
สถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.

วงศ์ฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา. การศึกษาสถาปัตยกรรมในเขตพุทธาวาสวัดเทพธิดารามวรวิหาร. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538.