Main Menu

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์

 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์

ที่ตั้ง
       
เลขที่ ๓ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ

พื้นที่วัด
        พื้นที่ทั้งหมด ๕๐ ไร่เศษ

อาณาเขต

 

  • ทิศเหนือ              จรด       ถนนพระจันทร์

  • ทิศใต้                   จรด      ซอยศิลปากร

  • ทิศตะวันออก        จรด      ถนนหน้าพระธาตุ

  • ทิศตะวันตก           จรด     ถนนมหาราช

 

ประวัติ

        วัดมหาธาตุ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกฝ่ายมหานิกาย ชั้นวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เขตพระนคร เดิมเรียกกันว่า “วัดสลัก ” ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดให้สถาปนาวัดสลักในคราวเดียวกันนี้ ด้วยที่พระองค์ทรงตั้งใจโดยปฏิญาณไว้เมื่อผ่านวัดสลัก ครั้งหนีทัพพม่า ว่าถ้ารอดจากทัพพม่าไปได้จะทะนุบำรุงวัดนี้ให้รุ่งเรือง ซึ่งในการสถาปนาครั้งนี้ทรงขนานนามไว้ว่า “วัดนิพพานาราม”

        ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ได้อาราธนาสงฆ์ชั้นราชาคณะทำการสังคายนาพระไตรปิฎกในวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก เวลาบ่าย ๓ โมง ปี พ.ศ. ๒๓๓๒ และประทานนามวัดนิพพานรามเสียใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ์”

        ในปลาย พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งบาลีวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุ เรียกว่ามหาธาตุวิทยาลัย และย้ายการบอกพระปริยัติธรรมมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

        ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ โปรดให้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมขึ้นในวัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นประธาน และเพื่อให้ถูกต้องตามประเพณีที่ว่าในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญ ๓ วัด คือ วัดมหาธาตุ  วัดราชประดิษฐ์ และวัดราชฎร์บูรณะ  และว่าวัดมหาธาตุต้องเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ทั้งขณะนั้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ก็ได้สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงเปลี่ยนชื่อ “วัดพระศรีสรรเพชญ์” เป็น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร เรียกสั้นๆว่า “วัดมหาธาตุ”

        ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.๒๓๓๒ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารถาวรวัตถุ เรียกว่า สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย เพื่อใช้ในงานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวิทยาลัยที่ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงขึ้น ๒ แห่ง คือ “มหามกุฎราชวิทยาลัย”เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระชนกนาถพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ “มหาธาตุวิทยาลัย” ตั้งเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ขึ้นในวัด  ซึ่งได้ทรงพระราชทานนามว่า “มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย” ใน พ.ศ.๒๔๓๙

        ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ และพระราชทานนามว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์”

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม         แผนผังวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เป็นวัดที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ แบ่งออกเป็นสองส่วน คือเขตพุทธาวาสและเขตสังฆวาส โดยมีระเบียงคตล้อมรอบเขตพุทธาวาสเอาไว้ มีทางเข้าไปภายในเขตพุทธาวาสสี่ด้าน สี่ทิศ ด้านหน้าของวัดจะหันไปทางทิศตะวันออก(ด้านสนามหลวง) ภายในเขตพุทธาวาสจะประกอบไปด้วย พระอุโบสถ และพระวิหาร ที่ขนานคู่กัน หันหน้าไปทางทิศตะวัน

     พระอุโบสถ         ก่ออิฐถือปูนหลังคาทรงไทยชั้นเดียวมี ๔ ตับ มุงกระเบื้องเคลือบสีหน้าบันเป็นลายพระนารายณ์ทรงครุฑยุคนาค, เทพ และลายใบเทศล้อมรอบประดับกระจกสีปิดทอง เช่นเดียวกับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวย ซุ้มประตู หน้าต่าง เป็นปูนปั้นซ้อน ๑ ชั้น มีลายกนกเครือเถาอยู่ตรงกลางซุ้ม บานประตูหน้าต่างเป็นไม้ทาสีดำ ปัจจุบันไม่ปรากฏลวดลายใดๆ เสาประดับซุ้มประตูหน้าต่างเป็นเสาเหลี่ยม ปลายเสาประดับลวดลายบัวแวงและบัวคอเสื้อ ส่วนฐานเสาซุ้มประดับด้วยกาบพรหมศร ส่วนล่างของซุ้มหน้าต่างเป็นลายประจำยามก้ามปู ลายกระจังรวนและกระจังตาอ้อย เสาพระอุโบสถเป็นเสาเหลี่ยมไม่มีลายที่ปลายเสา เว้นแต่เสาที่มุมพระอุโบสถ ประดับใบเสมาเป็นลายครุฑยุดนาคอยู่ภายใน พื้นหินอ่อน ฐานสิงห์ ตรงระเบียงคต ก่ออิฐถือปูน

        หลังคาทรงไทยมุงกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันเป็นลายใบเทศประดับกระจกสีปิดทอง ซุ้มประตู หน้าต่าง เป็นปูนปั้น ซ้อน ๒ ชั้น มีลายกนกเครือเถาอยู่กลางซุ้ม บานประตูหน้าต่างเป็นไม้ทาสีดำไม่ปรากฏลวดลายใดๆ เสาประดับซุ้มประตูหน้าต่างเป็นเสาเหลี่ยมมาประดับด้วยลายบัวแวง และบัวคอเสื้อ ส่วนฐานเสาซุ้มประดับด้วยกาบพรหมศร ส่วนล่างซุ้มหน้าต่างเป็นลายประจำยามก้ามปู พนักระเบียงประดับกระเบื้องปรุสีเขียวลายดอกประจำยาม หัวเสาพนักระเบียงทรงมณฑป พื้นหินอ่อนฐานสิงห์

     พระปรางค์         อยู่บริเวณด้านหลังพระอุโบสถและพระวิหาร มี ๒ องค์ มีฐานสูงรอบเป็นลานทักษิณ ฐานพระปรางค์เป็นฐานสิงห์มีซุ้มคูหาทั้ง ๔ ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานอภัย เนื้อโลหะ พระปรางค์อีก ๒ องค์ อยู่ด้านข้างพระอุโบสถและพระวิหารด้านละ ๑ องค์ เป็นพระปรางค์ย่อมุมไม้ ยี่สิบ ฐานพระปรางค์นี้เป็นฐานสิงห์มีซุ้มคูหา ๔ ทิศประดับด้วยลายปูนปั้น

     มณฑป         ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงไทยชั้นเดียวมี ๓ ตับ ตับล่างเป็นปีกนกรอบมุงกระเบื้อง เคลือบสี หน้าบันเป็นลายพระนารายณ์ทรงครุฑ เทพชุมนุม และลายใบเทศประดับกระจกสีปิดทองเช่นเดียวกันกับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซุ้มประตูเป็นปูนปั้นทรงมณฑปยอดเจดีย์ ซุ้มหน้าต่างเป็นปูนปั้นซ้อน ๒ ชั้น มีลายกนก เครือเถาอยู่ตรงกลางซุ้มบานประตูหน้าต่างไม่มีลวดลาย พื้นหินอ่อน ฐานสิงห์

     เจดีย์ทอง         ประดิษฐานในพระมณฑบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ ๑๒ ฐานสิงห์ องค์ระฆังทรงเครื่อง ปล้องไฉนเป็นบัวกลุ่มมีปลียอด และเม็ดน้ำค้างระหว่างชั้นฐานเจดีย์มีสิงห์นั่งกับครุฑแบกประกอบพระเจดีย์ลงรัก ปิดทองประดับกระจกสี อยู่ภายในมณฑป ทรงอีกชั้นหนึ่งสูง ๑๐ วาเศษ หลังคาพระมณฑปทองยอดเจดีย์เสาทั้งสี่มุมประดับกระจกสีอย่างสวยงามกล่าวว่าแต่เดิมไฟไหม้หลังคาพระมณฑปและมณฑปทองภายในจึงโปรดให้ทำหลังคาใหม่ดังปรากฎจนถึงทุกวันนี้

        พระอุโบสถ พระวิหาร และพระมณฑปดังกล่าว มีพระระเบียงล้อมรอบศิลปกรรมทั้งสามไว้ ซึ่งเป็นเสมือนกรอบที่ช่วยรักษาสิ่งก่อสร้างนั้นไว้ ไม่ให้ปะปนกับบริเวณโดยรอบ และยังมีพระพุทธรูปรายรอบระเบียงวิหารคต ประมาณ 132 องค์ ลักษณะเช่นเดียวกันหมด คือเป็นปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบปูนปั้นลงรักปิดทอง รัศมีเป็นเปลว ขมวดเกศเล็กปลายสังฆาฏิเป็นเขี้ยวตะขาบ หน้าตักกว้าง ๑.๕๐ ม. สูง ๒ม. ประทับนั่งบนฐานปูนปั้นลายบัวหงาย

     วิหารน้อยโพธิลังกา         ก่ออิฐ ถือปูน หลังซ้อน ๒ ชั้น มี ๒ ตับ มุงกระเบื้องเคลือบหน้าบันเป็นปูนปั้นประดับกระจกสีปิดทองรูปมหามงกุฎมีพานรองรับรายรอบด้วยลายกนกเปลว ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นปูนปั้นลงรักปิดทองประดับกระจกลายดอกพุดตาน บานประตูหน้าต่างเป็นลายรดน้ำ ลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เสาสี่เหลี่ยมลบมุมมีลวดลายบัวทองที่ปลายเสาพื้นหินอ่อนฐานสิงห์

      พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยมีพลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ เป็นประธานในการสร้าง ภายในบรรจุเนื้อดิน ซึ่งเก็บจากแผ่นดินที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จกรีฑาทัพเข้าเหยียบรวมทั้งสิ้น ๒๘ แห่งไว้ใต้ฐานพระบรมรูป

        นอกจากศิลปกรรมสำคัญดังกล่าวแล้ว บริเวณสังฆาวาสของวัดมหาธาตุฯ มีกุฏิสงฆ์ก่อด้วยปูนรูปทรงเป็นแบบกุฏิเก่าๆ แต่ในปัจจุบันได้ถูกต่อเติมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์ โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๓๘. วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, นำชมศิลปกรรมตามวัด, กรุงเทพฯ: พี พริ้นติ้งกรุ๊ป จำกัด, ๒๕๓๙ ศิริพงษ์ ศรีดารา, สถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหน้าสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช.วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๔