Main Menu

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

ที่ตั้ง
        เลขที่ ๒๐๕ ถนนอรุณอัมรินทร์  แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

ประวัติ
        วัดระฆังโฆสิตาราม เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คู่กับวัดบางหว้าน้อย คือ วัดอมรินทราราม พุทธศักราช ๒๓๑๒ หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พร้อมกับตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่เรียกว่า กรุงธนบุรี ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบางหว้าใหญ่นี้พร้อมทั้งยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่งปรากฏมีเสียงไพเราะกังวานมาก จึงโปรดให้นำเก็บไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากนั้นพระองค์จึงโปรดให้สร้างหอระฆังขึ้น พร้อมระฆังอีก ๕ ลูก เป็นการทดแทน และได้พระราชทานนามใหม่หลังบูรณะเสร็จเรียบร้อยว่า "วัดระฆังโฆสิตาราม"
  กรมพระราชวังบวรสถานภิมุขเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระราชโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ทรงถวายตำหนักแดง ๑ หลัง ฝาลูกปะกนกว้าง ๘ วาเศษ ระเบียงกว้าง ๑ วา ๒ ศอก ยาว ๘ วาเศษ ฝาปะจันห้องเขียนภาพอสุภต่างชนิดมีภาพพระภิกษุเจริญอุสภกรรมฐาน (ปัจจุบันอยู่ทางด้านทิศเหนือหน้าพระอุโบสถ แต่ภาพเขียนภายในได้ถูกลบไปหมดแล้ว)

        หอไตร หรือในอีกชื่อเรียกว่า “ตำหนักจันทน์” กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เดิมเคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งทรงรับราชการเป็นที่พระราชวรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจนอกฝ่ายขวา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงรื้อไปถวายวัดบางหว้าใหญ่ ในคราวเสด็จเป็นแม่ทัพไปตีเมืองโคราช

        เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์เพื่อใช้เป็นหอพระไตรปิฎก โดยขุดพื้นที่บริเวณที่พบระฆังออกเป็นรูปสี่เหลี่ยม ก่ออิฐกั้นเป็นสระแล้วรื้อพระตำหนักจากที่เดิมมาปลูกลงในสระ เมื่อดำเนินการเสด็จโปรดให้มีการสมโภชและปลูกต้นจันทน์ไว้ ๘ ต้น อันเป็นเหตุให้เรียกหอไตรนี้ว่า “ตำหนักจันทน์”

        ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนชื่อวัดมาหลายวัด และได้ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดราชคัณฑิยาราม" แต่ชื่อนี้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ผู้คนทั่วไปยังคงเรียก "วัดระฆัง" ตามเดิมถึงทุกวันนี้

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

พระอุโบสถ
       
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างขึ้นใหม่ แต่รูปทรงยังคงเป็นแบบของศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยเฉพาะหน้าบันรูปนารายณ์ทรงครุฑ มีช่องหน้าต่างสองบาน ซึ่งเป็นศิลปะแบบรัชกาลที่ ๑ แบบหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง ส่วนภายในพระอุโบสถก็มีพระประธานที่งดงาม หน้าอุโบสถด้านทิศใต้ ( ด้านหน้าวิหาร ) มีพระปรางค์ใหญ่ตั้งเป็นสง่าด้วยรูปทรงและสัดส่วนที่นับว่าสวยงามมากองค์หนึ่ง และมีพระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสามองค์ ที่กรมหมื่นนราเทเวศร์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ ทรงสร้างไว้ เป็นเจดีย์เหลี่ยมแบบรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันยังคงอยู่ในสภาพดี

หอระฆัง
       
หอระฆัง คือสัญลักษณ์ของวัดระฆังสร้างแบบจัตุรมุขศิลปะ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านบนแขวนระฆังที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๑ จำนวนห้าลูก

หอไตร
       
ก่อสร้างและปลูกเรือนในสมัยรัชกาลที่ ๑ การประกอบตัวเรือนเป็นไปในลักษณะสำเร็จรูปแบบเรือนไทยโบราณ จะพิเศษไปบ้างที่การต่อเสาบากประกบกัน โดยใช้สลักเหล็กแทนเดือยไม้ พื้นก็ปูกระดานขนาดใหญ่หาดูยาก หย่องหน้าต่างเป็นลูกมะหวด กลึงสวยงามทุกช่อง ฝาปะกนด้านนอกนั้นลูกตั้งและลูกเซ็นมีบัวด้วย แต่ฝาปะกนด้านในต่างกับของเรือนโบราณ เพราะเป็นฝาเรียบเสมอกันตลอด หลังคามุงด้วยกระเบื้องขอตอนปั้นลมโบกปูนห้ามไว้ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกาหงส์แต่อย่างใด

       หอไตรหลังนี้ มีลักษณะเป็นตำหนัก ๓ หลังแฝด มีระเบียงด้านหน้า ฝาเป็นกระดาน หลังคามุงกระเบื้อง ชายคามีกระจัง รูปเทพนมเรียงรายเป็นระยะ บานประตูนอกชานและซุ้มเบื้องบนแกะสลักลายดอกไม้ บานประตูหอกลางแกะสลักลายนกวายุภักษ์ ประกอบด้วยลายกนกเครือเถา บานประตูหอขวาเขียนลายรดน้ำปิดทอง ฝาปะกนภายในเขียนภาพรามเกียรติ์ ฝีมือพระอาจารย์นาค จิตรกรชั้นเอกในรัชกาลที่ ๑ ภายในมีตู้พระไตรปิฎกเขียนลายรดน้ำปิดทองฝีมือละเอียดงดงามจำนวน ๒ ตู้

        งานแกะสลักไม้นอกจากตัวเรือนที่เป็นสามหลังแฝดแล้วยังมีชานชาลายื่นออกมา ด้านหน้าต่อกับบันไดทางขึ้น ที่ทางขึ้นชานชาลามีบานประตูไม้แกะสลักเป็นลายกนก มีนาคพันอยู่ที่โคนประดับกระจกสีตามช่องไฟ เหนือบานประตูขึ้นไปเป็นแผ่นไม้หนารูปทรงคล้ายหน้าบัน แกะลายอย่างบานประตู เข้าชุดกัน สวยงามพิสดาร ลงรักปิดทองทั้งประตูและซุ้ม คันทวยรับชายคาสลักเป็นคันทวยทรงนาคปิดทองประดับกระจกสี เช่นเดียวกับขอบหน้าต่างและลูกกรงหน้าต่าง

          รูปภาพจิตรกรรมที่มีเขียนไว้ในหอพระไตรปิฎกนี้ มีปรากฏอยู่เกือบทุกส่วนของหอไตร เมื่อเข้ามาภายในหอแล้วจะเป็นหอกลาง ขวามือคือหอนั่ง ซ้ายมือคือหอนอน

        หอกลาง ภาพจิตรกรรมในหอกลางเขียนเรื่องรามเกียรติ์ เป็นงานเขียนฝีมือพระอาจารย์นาค ตอนศึกกุมภกัณฐ์ไว้ที่ด้านบนประตูทางเข้า เหนือประตูเป็นรูปสุครีพกำลังถอนต้นรัง ด้านขวามือเป็นตอนกุมภกัณฐ์เข้ารบรับขับเคี่ยวกับสุครีพ จนสุครีพเสียท่าเพราะหมดกำลัง ถูกกุมภกัณฐ์จับหนีบรักแร้พาตัวไปได้ ด้านล่างลงมาเป็นตอนกำแหงและหนุมานเหาะลงมาช่วยสุครีพ เข้ารบกับกุมภกัณฐ์รุกรบตีด้วยต้นไม้ จนกุมภกัณฐ์พ่ายหนีไป ช่วยสุครีพไว้ได้ ฝาในของประตูหอกลางเป็นภาพเขียนระบายสีรูปยักษ์สองตนเขียนใหญ่เต็มบานยืนเท้ากระบอง รูปร่างหน้าตาท่าทางถมึงทึง น่าเกรงขาม ผิดกับรูปยักษ์อื่นๆที่เคยเห็น คือ ตนหนึ่งผิวกายขาว คือ สหัสเดชะ ตนหนึ่งผิวกายเขียวคล้ำ คือ วิรุฬกำบัง

        ด้านตรงกันข้ามเป็นตอนศึกอินทรชิตกับพระลักษณ์ อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พรั่งพร้อมด้วยยักษ์แปลงเป็นเทพเทวัน ประดับธงทิวริ้วไสวสะบัดชายเรืองรองเหมือนกองทัพเต็มอัตราอิสริยยศอันเกรียงไกรของพระอินทร์ ประจันหน้ากับกองทัพของพระลักษณ์ อนุชาของพระราม กำลังประทับเงื้อง่าพระแสงศรอยู่บนราชรถเทียมม้า มีฉัตร พัดโบก จามรกางกั้น มีพญาหนุมานชามภูวราช สุครีพ และวานร เป็นพลพรรค

        หอนั่ง กั้นด้วยราวลูกกรงเตี้ยบนพื้นหอที่ยกสูงกว่าหอกลางเล็กน้อย ตรงกลางตั้งเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์แบบเก่าคู่หนึ่ง เป็นช่องทางสำหรับขึ้น ทาสีแดงชาดที่ราวลูกกรง หัวเม็ดปิดทอง รูปทรงหัวเม็ดคู่นี้งดงามมาก หอกลางกับหอนั่งจึงมองดูโล่งตลอดถึงกัน มองเห็นหน้าต่างโดยรอบ มีตู้พระธรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เป็นของสร้างมาพร้อมกับหอไตร มีขนาดใหญ่จนยกออกประตูไม่ได้ เป็นตู้พระธรรมเขียนลายรดน้ำ

        บานหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำเป็นรูปเทวดา ด้านในเป็นรูปเทวดาเขียนสอดสี เหนือหน้าต่างขึ้นไปเป็นภาพเทพชุมนุมเขียนสอดสีทั้งสามด้าน เริ่มจากขวามาซ้าย เทวดาชั้นจตุมหาราช ยักษ์ ครุฑ นาค คนธรรพ์ เทพ อินทร์ พรหม เป็นที่สุดคล้ายกันกับเทพชุมนุมที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ แต่ที่นี่มีแถวเดียว พื้นฝาระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนภาพต้นไม้ ป่า เขา นก และสัตว์ต่างๆ

        หอนอน ฝาหอนอนเป็นฝาปะกนด้านในเรียบ ด้านนอกเขียนลายทองพุ่มข้าวบิณฑ์ บานประตูก็เขียนลายรดน้ำก้านขด พื้นหอนอนก็ยกสูงกว่าหอกลางเท่ากับหอนั่ง บานประตูด้านในเขียนภาพระบายสีเป็นภาพต้นไม้ใหญ่สองต้น ใต้ต้นไม้มีพระภิกษุกำลังเจริญอสุภกรรมฐาน เป็นการเขียนภาพต้นไม้ขนาดใหญ่ด้วยฝีแปรงเฉียบขาด

        ฝาผนังด้านซ้ายมือเขียนเรื่อง ไตรภูมิ เป็นวิมานเทวดาบนยอดเขาสัตตปุริภัณฑ์ที่ล้อมเขาพระสุเมรุ บรรยากาศเป็นป่าหิมพานต์ที่อยู่ของเทวดา และอสูร ตามภูมิ ตามชั้นต่างๆ ภาพสิงห์สาราสัตว์ เช่น ช้าง ม้า วัว นาค นกยูง กินรี กินร จับกลุ่มเริงระบำ ฝาด้านขวาเขียนแทรกไว้ด้วยเรื่องพระเวสสันดร กับนางมัทรีและสองกุมาร เหนือขึ้นไปเขียนรูปเหล่าฤษีนักสิทธิวิชชาธร กำลังเหาะล่องลอยตามกันไปไหว้พระจุฬามณี

        ฝาผนังด้านขวามือทั้งฝา เขียนนิทานธรรมบท เรื่องราวของท้าวสักกะเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรื่องที่เขียนเป็นประธานฝาผนังนี้คือ ตอนมฆมานพสร้างศาลาเป็นทาน มฆมานพมีภริยาสี่คน คือ นางสุธรรมา นางสุจิตรา นางสุนันทา และนางสุชาดา ภริยาสามคนแรกได้ร่วมกันทำบุญสร้างกุศลด้วย แต่ภริยาอีกคน คือ นางสุชาดาไม่มีจิตร่วมกุศล คิดว่าสามีทำกุศลเราก็ได้รับผลเหมือนกัน

        ด้วยผลบุญที่ร่วมสร้าง มฆมานพได้เกิดเป็นท้าวสักกะเทวราช หรือพระอินทร์เป็นใหญ่ในดาวดึงส์ ภริยาทั้งสามก็ไปเกิดเป็นมเหสีพระอินทร์ ส่วนนางสุชาดาไปเกิดในภพต่างๆ ตามแต่บุญกุศล มฆมานพแม้จะเป็นใหญ่ในสวรรค์แล้วก็ไม่วายเป็นทุกข์เป็นห่วงนางสุชาดาภริยาผู้หลงผิด ต้องร้อนใจติดตามลงมาช่วยนางอยู่หลายชาติ เพราะอำนาจแห่งกิเลสตัณหา

        ตู้พระธรรม มีตู้พระธรรมสำหรับเก็บพระไตรปิฎก อยู่ในหอนอน และหอนั่ง ล้วนมีขนาดใหญ่โต ออกประตูไม่ได้ทั้งสองใบ ใบที่ตั้งอยู่ในหอนอนนั้นเขียนลายรดน้ำเป็นภาพเทวดาขนาดใหญ่ยืนบนแท่น มีอสูรและกระบี่เป็นผู้แบก เขียนเต็มขนาดใหญ่ของตู้ทั้งสี่ด้าน งามวิจิตรพิสดารยิ่งนัก ดูแล้วก็เปรียบเมือนพระประธานของหอนอน ส่วนที่หอนั่งก็มีตู้พระธรรมขนาดเท่าๆกันกับที่หอนอนเป็นแต่ผูกลายกนกเต็มตู้ทั้งใบดูวิจิตรพิสดาร

        ปัจจุบันหอไตรหลังนี้ ทางวัดได้ย้ายเข้ามาปลูกใหม่ ภายในบริเวณกำแพงแก้ว อยู่ด้านหลังพระอุโบสถทางทิศตะวันออก และบูรณะซ่อมแซมภาพเขียนที่ชำรุดเสียหายให้คงไว้ดังเดิม

 

บรรณานุกรม

นิวัติ กองเพียร, หอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์, ๒๕๒๖.
บุญชัย ใจเย็น, ไหว้พระ ๙ วัดศักดิ์สิทธิ์ เสริมมงคลชีวิต ให้ร่ำรวย รุ่งเรือง, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เลิฟบุ๊คส์, ๒๕๕๒.
มูลนิธิไทยวัฒนา, ภาพเขียนในหอพระไตรปิฎกวัดระฆัง, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, ๒๕๑๓.
วิชิต สุวรรณปรีชา, โบราณสถาน เล่มที่ ๔, กรุงเทพฯ:  อักษรบัณฑิต, ๒๕๓๑
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, นำชมศิลปกรรมตามวัด, กรุงเทพฯ: พี พริ้นติ้งกรุ๊ป จำกัด, ๒๕๓๙